วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เคล็ดลับ การฝึกจิต

ช่วงนี้คนที่มาใหม่ๆ มีเยอะ

หลายคนหลวงพ่อไม่เคยเห็นหน้า
ที่มาใหม่ๆ นี่ ส่วนใหญ่ฟังซีดี
ดูยูทูป (youtube) มา แถมภาวนาได้ด้วย
จำนวนมากเลยที่มาครั้งแรก มาด้วยความมั่นใจ
มาส่งการบ้านด้วยความมั่นใจ เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร
อาศัยเคล็ดลับที่หลวงพ่อสอนให้พวกเราหัดเจริญสติ
หัดเจริญไปเรื่อยนะ ได้สติ ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญาขึ้นมา
แล้วก็เริ่มรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร
รู้แล้วก็เกิดความมั่นใจ
เส้นทางที่ท่านให้ไว้นี่ดีจริงๆ ควรจะเดินตาม
มีศรัทธาขึ้นมา พากเพียรปฏิบัติ
บางคนมาขอบคุณหลวงพ่อ
ไม่สงสัย ได้ฟังธรรมหลวงพ่อแล้วหมดสงสัย
หลวงพ่อยังเคยเตือนเลย สงสัยหน่อยนา
หน้าตาเธอยังไม่รู้จริงหรอก บางทีเธอสิ้นสงสัยเร็วเกินไป
หลวงพ่อทบทวนให้นิดนึง
สำหรับคนใหม่ๆ ยังไม่เคยเจอหลวงพ่อ
ไม่ต้องตกอกตกใจ ทำใจสบายๆ นั่งฟังไปสบายๆ
เคล็ดลับอยู่ที่สบาย พอใจเราสบายแล้วสมาธิจะเกิด
ถ้าใจเครียดสมาธิจะไม่เกิด
ฉะนั้นทำใจให้สบายๆ
ไม่ต้องแกล้งทำให้สบายมากเกินไปนะ
เป็นธรรมชาติ ผ่อนคลาย ยิ้มหวานๆ ยิ้มกับตัวเอง
ไม่ต้องไปยิ้มใส่คนอื่นหรอก เดี๋ยวกิเลสเกิด
เราเพิ่งกินข้าวมาไม่ได้แปรงฟัน เรายิ้มของเราคนเดียว
ถ้าใจมันมีความสุข สมาธิมันจะเกิดง่าย
ลองยิ้มซิ … รู้สึกไหมร่างกายมันยิ้มอยู่
ลองพยักหน้า … รู้สึกไหมร่างกายมันพยักหน้า
ไม่ใช่ยิ้ม พยักหน้า (หลวงพ่อทำหน้ายิ้ม พยักหน้า) มันผิดธรรมดา
ธรรมดานี่แหละ ไม่ต้อง ดจร. (ดัดจริต) … (เสียงโยมหัวเราะ)
เนี่ย เมื่อกี้หัวเราะ รู้สึกไหมร่างกายหัวเราะ
(ใคร)ไม่ได้ยิ้มไม่ได้หัวเราะ นั่งเฉยๆ
ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึกไหม
ตอนนี้หายใจออกหรือหายใจเข้า รู้สึกไหม
รู้สึกสบายๆ ไม่ต้อง (หลวงพ่อทำท่าสูดหายใจแรง)
อย่างนี้ไม่ต้องนะ นี่ก็เข้าขั้น ดจร. อีกแหละ
ใช้ใจธรรมดารู้สึกไป
ถ้าร่างกายเคลื่อนไหว ก็รู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว
ร่างกายหยุดนิ่ง ก็รู้สึกร่างกายหยุดนิ่ง
ทำไปเพื่ออะไร
เพื่อความมีสติในเบื้องต้น
เพื่อความมีปัญญาในเบื้องปลาย
อย่างร่างกายยิ้ม ร่างกายพยักหน้าเนี่ย
อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน
อยู่ในสัมปชัญญบรรพ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก
ถ้าหยาบขึ้นมาหน่อยนะ นั่งอยู่ก็รู้สึก
ตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม
ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกว่าร่างกายมันนั่ง แค่รู้สึก
ตรงที่เรารู้ร่างกายยืนเดินนั่งนอนนี้
เรียกว่า อิริยาบถบรรพ อยู่ในสติปัฏฐาน ๔
(ตรงที่)รู้ร่างกายที่หายใจออก รู้ร่างกายที่หายใจเข้า
อยู่ใน อานาปานสติบรรพ
ฉะนั้น สิ่งที่หลวงพ่อสอนให้พวกเราทำ
อยู่ในสติปัฏฐานนี่เอง
ทำไปเพื่ออะไร
เพื่อความมีสติในเบื้องต้น
เพื่อความมีปัญญาในเบื้องปลาย
เอายิ้มหวาน
ยิ้มหวานแล้ว รู้สึกร่างกายยิ้ม
อย่างนี้อยู่ในสัมปชัญญบรรพ
ร่างกายเคลื่อนไหวแล้ว รู้สึก
ถ้าร่างกายหายใจแล้วรู้สึก
เรียก อานาปานสติ (อานาปานสติบรรพ)
รู้สึกเรื่อยๆ
หายใจออก รู้สึก
หายใจเข้า รู้สึก
ต่อไป เวลาจังหวะการหายใจเปลี่ยนนะ
สติจะเกิดเอง ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันจะเกิดเอง
ฉะนั้น สิ่งที่หลวงพ่อสอนพวกเรานะ
พวกมาใหม่ๆ ไม่ต้องงง
หลวงพ่อจะสอนจนพวกเรามีสติอัตโนมัติเกิดขึ้นเอง
ต่อไปจะมีศีลอัตโนมัติ มีสมาธิอัตโนมัติ มีปัญญาอัตโนมัติ
ไปฝึกจนอัตโนมัติทั้งหมดเลย
ทำไมต้องฝึกให้เป็นอัตโนมัติ
เพราะเวลาที่อริยมรรคเกิดเนี่ย เกิดอัตโนมัติ
จงใจให้เกิดไม่ได้ เกิดเอง
เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา มันอัตโนมัติแล้ว
เคล็ดลับอยู่ที่สบาย พอใจเราสบายแล้วสมาธิจะเกิด ถ้าใจเครียดสมาธิจะไม่เกิด
ศีล สมาธิ ปัญญา อัตโนมัติได้
เบื้องต้นต้องฝึกให้มีสติอัตโนมัติ
สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำ
เพราะฉะนั้น เรามาหัดรู้สภาวะบ่อยๆ
จิตเค้าจะได้จำสภาวะได้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง
แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะงอกงามขึ้นมา
(ถ้า)ไม่ถนัดที่จะเริ่มจากกาย ดูจากเวทนาก็ได้
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ เราคอยรู้สึก
อย่างในใจเรานี้ ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ
มีอยู่สามอย่างเท่านั้นเกิดขึ้นในใจเรา ในกองของเวทนา
เพราะฉะนั้น ใจเรามีความสุขเรารู้
ใจเรามีความทุกข์เรารู้ ค่อยๆ รู้ไปเรื่อย
ต่อไปพอใจเฉยๆ แล้วอยู่ๆ มีความสุขขึ้นมานะ สติเกิดเอง
หรือเราอยู่เฉยๆ นะ แล้วความทุกข์ผุดขึ้นมา
เราจะเห็นความทุกข์มันเกิดขึ้นเอง มันมาอย่างอัตโนมัติ
สติคอยรู้ไปเรื่อย ต่อไปพอมีความสุขเกิดขึ้น
มันรู้โดยไม่เจตนารู้ มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้โดยไม่เจตนาจะรู้
นี้เรียกว่า เรามีสติอัตโนมัติขึ้นมา
หรือถ้าไม่ถนัดที่จะดูกาย
ไม่ถนัดที่จะดูความรู้สึกสุขทุกข์
เรามาดูใจของเราที่เป็นกุศล อกุศล ก็ได้
คนไหนขี้โกรธ คนขี้โกรธยุคนี้เยอะนะ มีมาก
ไหนใครขี้โกรธบ้างยกมือซิ
ใครขี้โลภยกมือซิ
ใครชอบหลงบ่อยๆ (ยกมือซิ)
นี่ เยอะ ถูกต้อง ถูกต้องนะ
ถ้าบอกขี้โกรธ ขี้โลภ แต่ไม่หลงนี่ ภาวนาไม่เป็นหรอก
คนจะโกรธได้ต้องหลง คนจะโลภได้ต้องหลง
ส่วนใหญ่เราก็หลงนั่นแหละ
แต่หลงนี้เป็นตัวที่ดูยากที่สุด มันประณีต ดูยาก
ตัวโกรธดูง่ายที่สุด มันหยาบ
เพราะฉะนั้น พวกเราขี้โกรธนี่พวกมีบุญนะ
ถึงชาติก่อนจะมาจากนรก มาจากอบายก็ตาม
มันคุ้นเคยกับโทสะ ใจวันๆ เต็มไปด้วยโทสะ
ก็ไม่ต้องเสียใจ อดีตก็แล้วๆ ไป
ทุกวันนี้พอใจโกรธขึ้นมา หงุดหงิดขึ้นมา คอยรู้ทัน
พอรู้บ่อยๆ จิตจำสภาวะของความหงุดหงิด ของความโกรธได้
พอมันจำได้แม่นแล้ว ต่อไปพอมันหงุดหงิดนิดเดียวนี่นะ
สติระลึกได้เอง ระลึกขึ้นมาเอง คือสติอัตโนมัติก็เกิด
คนไหนขี้โลภ จิตมันโลภขึ้นมาเราก็รู้ จิตมันหายโลภเราก็รู้
ต่อไปชำนาญขึ้นมา จิตจำสภาวะของความโลภได้แม่น
พอจิตโลภปุ๊บ สติเกิดเองเลย รู้ว่าโลภแล้ว
ถ้าจะดูหลง
หลงส่วนใหญ่นั้น หลงคิด
วิธีดูหลงคิดนะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งก่อน
จะพุทโธ จะหายใจ อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทัน
เคลื่อนไหว ขยับไม้ขยับมือ เดินจงกรม อะไรก็ได้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหนีไปคิด
จิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตไหลไปคิดแล้วรู้
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เล่นตัวนี้เลย
จิตมีราคะ จิตมีโทสะ ไม่ได้เกิดตลอด
จิตหลงนี่แทบจะตลอด
เดี๋ยวก็ไหล เดี๋ยวก็ไหล เดี๋ยวก็ไหล
ตอนที่หลวงพ่อฝึก หลวงพ่อดูจิตที่ไหลไป
เราหายใจไป พุทโธไป จิตหนีไปคิดเราคอยรู้ทัน
ทำอานาปานสติ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก
จิตหนีไปคิดแล้วรู้ อันนี้อยู่ใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตไหลไปคิด คือจิตฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะ
ต่อไปพอเราหัดดูบ่อยๆ จิตจำสภาวะที่ไหลไปได้
พอจิตไหลปุ๊บ สติเกิดเอง
สติจะเกิดได้เองถ้าเราหัดดูสภาวะบ่อยๆ
ใจที่มันทรงสมาธิขึ้นมา มันพร้อมที่จะเดินปัญญา ใจที่ทรงสมาธิจะมีความเบา เพราะฉะนั้น ถ้าหนักๆ อยู่ ใช้ไม่ได้นะ
ดูร่างกายก็ได้
ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง
ดูความสุข ความทุกข์ ก็ได้
สุขเกิดก็รู้ ทุกข์เกิดก็รู้ เฉยๆ เกิดก็รู้
ดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล ก็ได้
ขี้โกรธก็ดูจิตมันโกรธ จิตโกรธแล้วจิตไม่โกรธ
ขี้โลภก็ดูจิตโลภแล้วไม่โลภ ดูบ่อยๆ
หรือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตที่ไหลไป
ส่วนใหญ่ไหลไปคิด จิตไหลไปคิดแล้วรู้ ไหลไปคิดแล้วรู้
อันนี้อยู่ในจิตตานุปัสสนา (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) นะ
ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น ใช้หลักเดียวกันทั้งหมดแหละ
แต่ธัมมานุปัสสนา (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ทำยากนะ เอาไว้ก่อน เอาของง่ายก่อน
แต่สุดท้ายทุกคนเข้าไปธัมมานุปัสสนาได้ทั้งนั้นแหละ
โดยเฉพาะบรรพสุดท้าย สัจจบรรพ รู้อริยสัจขึ้นมา
ถึงจุดหนึ่งทุกคนก็รู้อันนี้ ถ้าไม่รู้อันนี้จะเกิดอีก
ถ้ารู้แล้วไม่เกิดอีก
พอเรามีสติอัตโนมัติแล้วนะ
ต่อไปเราก็มาฝึกคอยรู้ทันจิตใจของเราเองบ่อยๆ
จิตมีกิเลสอะไรเกิดขึ้นเราคอยรู้ทัน
จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดขึ้นมารู้ทันเรื่อยๆ
รู้ทันตัวนี้บ่อยๆ นะ ต่อไปศีลอัตโนมัติจะเกิด
ศีลที่เราตั้งใจรักษาเป็นศีลเบื้องต้น ศีลพื้นฐาน
อาศัยเจตนาตั้งใจไว้ก่อน
แต่ถ้าเราฝึกสติของเราให้ดีนะ ศีลอัตโนมัติจะเกิด
การเดินปัญญาคือการเห็นไตรลักษณ์ ถ้าลำพังเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เช่น เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า มีสติ (แต่)ยังไม่มีปัญญา
คนทำผิดศีลได้เพราะกิเลสครอบงำจิต
ฉะนั้น เราคอยรู้ทันจิตไว้
จิตมีราคะเราก็รู้ จิตมีโทสะเราก็รู้
จิตฟุ้งซ่านไปเราก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้
พอรู้บ่อยๆ กิเลส โลภ โกรธ หลง มันครอบงำจิตไม่ได้
กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด
คนทำผิดศีลเพราะกิเลสครอบงำจิต
อย่างจิตมีโทสะ ไปฆ่าเขาก็ได้
ไปแย่งชิงสมบัติเขาก็ได้
ไปหลอกลูกหลอกเมียเขาก็ได้
ไปใส่ร้ายเขาก็ได้
หรือจิตมีโทสะ กลุ้มใจ ไปกินเหล้าก็ได้
ผิดศีลได้ ๕ ข้อเลย
จิตมีราคะก็ผิดศีลได้ ๕ ข้อ
จิตมีโมหะก็ผิดศีลได้ทั้ง ๕ ข้อ
เพราะฉะนั้น อาศัยสติรู้ทัน
จิตใจมีกิเลสขึ้นมา รู้ทัน
จิตใจมีกิเลส รู้ทัน ศีลอัตโนมัติจะเกิด
ทีนี้เราอาศัยสติไปสร้างสมาธิอัตโนมัติ
สมาธิอัตโนมัติ จะไม่จงใจให้เกิดสมาธิ
จิตมันมีสมาธิขึ้นมาเอง
ศัตรูของสมาธิเรียกว่า นิวรณ์
นิวรณ์ตัวหัวโจกเลยคือ ตัวฟุ้งซ่าน
อาศัยความฟุ้งซ่านไป
มันเลยเกิดความรักใคร่พอใจ เกิดกามฉันทะ
ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เกิดความพอใจขึ้นมา เกิดกามฉันทะขึ้นมา
อาศัยความฟุ้งซ่านไปหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดพยาบาทขึ้นมา
หรือเกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความรำคาญใจ
เกิดความลังเลสงสัย เกิดความหดหู่
อาศัยฟุ้งซ่านก็หดหู่ได้นะ
สังเกตไหมช่วงไหนฟุ้งซ่านมากๆ
ถัดไปแล้วจิตจะซึมไป จิตจะหดหู่ มันเป็นของมันเอง
เพราะฉะนั้น หัวโจกคือตัวฟุ้งซ่านนั้นแหละ
ศีล สมาธิ ปัญญา อัตโนมัติได้ เบื้องต้นต้องฝึกให้มีสติอัตโนมัติ
สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำ เพราะฉะนั้น เรามาหัดรู้สภาวะบ่อยๆ
จิตเค้าจะได้จำสภาวะได้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะงอกงามขึ้นมา
เราคอยรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านนะ
นิวรณ์ห้าตัวนี้สิ้นสภาพไปเลย
จิตฟุ้งซ่านคือ ฟุ้งไปทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ฟุ้งมากที่สุดคือฟุ้งทางใจ
ฟุ้งไปคิด เกิดบ่อยที่สุด
รองลงมาสำหรับคนที่ตาไม่บอด ก็ฟุ้งไปดู
รองลงไปอีกก็ฟุ้งไปฟัง
น้อยลงไปอีกก็ฟุ้งไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางร่างกาย
เพราะฉะนั้น ทวารที่จิตวิ่งพล่านไปมากๆ เลย
คือ ทวารใจ หนีไปคิด
เวลาเราดูโทรทัศน์ใช้สามช่องนี้แหละ
ตามองรูปในโทรทัศน์ หูได้ยินเสียง ใจก็คิด
ตอนที่เราดูข่าวอะไรสักข่าว
เราบอกว่าเราดูโทรทัศน์เลยรู้ข่าว จริงๆ ไม่ใช่
รู้ขึ้นมาเพราะคิดหรอก
ถ้าตาสักแต่ว่าเห็นรูป ไม่รู้ว่ารูปอะไร
ถ้าหูสักแต่ว่าได้ยินเสียง ไม่รู้ว่าเสียงอะไร
อาศัยความคิดไปแปลความ แล้วก็สรุปขึ้นมา
เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา ถูกบ้างผิดบ้าง
เราดูทีวีนะ เราใช้ตา เราใช้หู เราใช้ใจ
เราไม่ได้ใช้ลิ้นใช่ไหม ใครเลียโทรทัศน์บ้าง
หรือใครไปดมมันบ้าง หรือใครไปนั่งลูบมันบ้าง
จริงๆ แล้ว อายตนะหลักๆ คือตา หู ใจ
ใจนี่ใช้เยอะที่สุด
เห็นรถชนกัน ดูด้วยตา
ฟังเสียงเขาวิพากษ์วิจารณ์ ใจก็คิด
ตัวที่มากที่สุดก็คือตัวใจคิด
ถ้าเราจะหัดรู้นะ หัดรู้ทันใจที่คิด ดีที่สุด มันเกิดบ่อย
ใจคิดแล้วรู้ ใจคิดแล้วรู้ สมาธิจะเกิด
จริงๆ ตามองเห็น เรารู้ สมาธิก็เกิด
หูได้ยินเสียง เรารู้ สมาธิก็เกิด
ใจมันคิดบ่อยที่สุด
ใจไหลไปคิดแล้วรู้ สมาธิจะเกิดขึ้น
คือใจไม่ฟุ้งซ่าน ตรงที่ใจไหลไปนี่ใจฟุ้งซ่าน
ตรงที่มีสติรู้ทันว่าใจไหลไป จิตเป็นกุศลแล้ว
ความฟุ้งซ่านจะดับอัตโนมัติ
เมื่อไหร่มีกุศล เมื่อนั้นอกุศลไม่มี นี่เป็นกฎของธรรมะ
เราอาศัยสติคอยรู้ทันเวลาใจหนีไปคิด รู้บ่อยๆ
ช่วยมันหน่อยก็ พุทโธ พุทโธ ไป
ใจหนีไปคิดเรื่องอื่นนอกจากพุทโธ ก็รู้
หายใจไป ใจหนีไปคิดแล้วก็รู้
เดินจงกรมใจหนีไปก็รู้
อยู่ๆ จะดูใจหนีไปคิด ดูยาก มันลืมเก่ง ช่วยมันนิดนึง
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันเวลาใจมันไหลไป
พอใจไหลไปปุ๊บเรารู้
นิวรณ์ไม่มี ใจไม่ฟุ้งซ่าน สมาธิอัตโนมัติมันเกิดขึ้น
พอสมาธิอัตโนมัติมันเกิดขึ้น ใจจะมีความเบา
มีความนุ่มนวล อ่อนโยน คล่องแคล่วว่องไว
แล้วก็ใจไม่ขี้เกียจขี้คร้าน
สภาวะอะไรเกิดขึ้นก็สักว่ารู้ว่าเห็นไป
ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่เข้าไปแทรกแซง
ใจดวงนี้เป็นใจที่พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาแล้ว
ใจที่มันทรงสมาธิขึ้นมา มันพร้อมที่จะเดินปัญญา
ใจที่ทรงสมาธิจะมีความเบา
เพราะฉะนั้น ถ้าหนักๆ อยู่ ใช้ไม่ได้นะ
แล้วต้องมีความนุ่มนวล ถ้าแข็งๆ กระด้างอยู่ ใช้ไม่ได้
มีความคล่องแคล่วว่องไว ถ้าซื่อบื้อ นิ่งเฉยๆ อยู่ ใช้ไม่ได้
มีความซื่อตรงในการรู้อารมณ์
ขยันรู้อารมณ์ รู้แล้วก็ไม่เข้าไปแทรกแซง
นี่ใจอย่างนี้ ดี เหมาะกับการเจริญปัญญา
เกิดจากใจมีสมาธิที่ถูกต้อง
มีสมาธิที่ถูกต้องเพราะมีสติรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านไป
สมาธิที่ถูกต้องมันเกิด ใจก็เบา นุ่มนวล อ่อนโยน
คล่องแคล่วว่องไว ควรแก่การงาน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์
ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะในขณะนั้น
ใจดวงนี้เรียกว่า ใจมีสมาธิที่ถูกต้อง
สมาธิที่ถูกต้องเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ถ้าใจไม่มีคุณภาพแบบนี้ เจริญปัญญาไม่ได้จริง
เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งจิตมันสรุปรวบยอดได้ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวเรา
รูปธรรมนี้ไม่ใช่เรา นามธรรมนี้ไม่ใช่เรา
พอความรู้รวบยอดตรงนี้เกิดนะ อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
เป็นปัญญาในขั้นอริยมรรค
ใจเรามีคุณภาพแล้ว เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
อาศัยสติคอยรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปนามกายใจ
แต่เดิมร่างกายหายใจออกเรารู้สึก
หายใจเข้ารู้สึก ทำไปเพื่อความมีสติ
แต่ตอนนี้เราพัฒนาให้เกิดปัญญา
(ให้)จิตเป็นผู้รู้ขึ้นมา เห็นว่า
ร่างกายที่หายใจอยู่ ไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายเป็นอนัตตาขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ
ร่างกายนี้มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า แสดงความไม่เที่ยง
(เห็นอย่างนี้)จะเริ่มเดินปัญญา
การเดินปัญญาคือการเห็นไตรลักษณ์
ถ้าลำพังเห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม เช่น
เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า
มีสติ (แต่)ยังไม่มีปัญญา
มีปัญญาต้องเห็นความเป็นไตรลักษณ์
เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา
ร่างกายไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์
เห็นจิตใจก็ไม่ใช่เรา มีแต่ความไม่เที่ยง
มีแต่ความแปรปรวน บังคับไม่ได้
เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งจิตมันสรุปรวบยอดได้ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวเรา
รูปธรรมนี้ไม่ใช่เรา นามธรรมนี้ไม่ใช่เรา
พอความรู้รวบยอดตรงนี้เกิดนะ อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
เป็นปัญญาในขั้นอริยมรรค
พระพุทธเจ้าสอน
ไม่มีใครทำอริยมรรคให้เกิดได้ อริยมรรคเกิดเอง
เรามีหน้าที่เจริญศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา
พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ที่ถูกต้องอัตโนมัติขึ้นมา
แล้วอริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง
ท่านบอกเหมือนชาวนาทำข้าวให้ออกรวงไม่ได้
ชาวนาทำเงื่อนไขให้ข้าวออกรวงได้
พอฝนตกก็ไปไถนา ไถนาแล้วก็ไปหว่านข้าว
หว่านข้าวแล้วก็คอยดูแลต้นข้าว
น้ำมากก็เอาออก น้ำน้อยก็เอาเข้า
หนอนแมลงมาก็หาทางแก้ไข
ถึงเวลาแล้วข้าวออกรวงเอง
ชาวนาไปสั่งข้าวให้ออกรวงไม่ได้ ข้าวออก(รวง)เอง
จิตนี้ก็เหมือนกัน เราสั่งให้เกิดอริยมรรคไม่ได้
อริยมรรคเกิดขึ้นเองเมื่อเรามีเหตุที่พร้อมแล้ว
เหมือนชาวนาทำเหตุที่พร้อมแล้ว ข้าวก็ออกรวง
เรานักปฏิบัติ
เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ที่ถูกต้องอัตโนมัติขึ้นมา
อริยมรรคก็จะเกิดขึ้นเอง
ค่อยๆ ฝึกนะ นี่เป็นภาพรวมทั้งหมดเลยของการปฏิบัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น