วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

สันติธรรมถ้าจิตเป็นกลางจริง จะสังเกตเห็นจิตผู้รู้แทรกอยู่ตรงนั้นเอง. เมื่อเห็นบ่อยๆ แล้ว ต่อไปก็ชำนาญ สามารถเห็นจิตผู้รู้ได้เสมอๆ. ตัวอย่างเช่น ขณะนี้กำลังเกิดความสงสัยในหลักการปฏิบัติ. เพราะไม่ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรดี. วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การรู้เข้าไปที่อารมณ์สงสัยที่กำลังปรากฏ. ก็จะเห็นว่า ความสงสัยกำลังถูกรู้ แล้วก็จะรู้จักจิตผู้รู้ได้. หรือถ้าดูอารมณ์ภายในจิตไม่ออก ก็ลองมาดูอารมณ์ทางกาย. เช่นระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยจิตใจที่สบายๆ. แล้วเห็นว่า ลมหายใจกำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่. ก็จะรู้จักจิตผู้รู้ ผู้ดูขึ้นมาได้โดยง่าย. ธรรมชาติของกิเลสนั้น มันมักจะมาล่อหลอกให้เราทิ้งจิตผู้รู้. อันเป็นแก่นสารสาระของการปฏิบัติเสีย. แล้วหลงคิดไปตามความปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส. ถ้าเรารู้ทันลูกเล่นของกิเลสอย่างนี้แล้ว. เราก็อย่าหลงเชื่อกิเลส ทิ้งจิตผู้รู้ออกไปคิดค้นคว้าสิ่งต่างๆ ตามใจกิเลส. ตัวอย่างเช่นเมื่อมีความสงสัยในวิธีการปฏิบัติเกิดขึ้นมา. แทนที่เราจะรู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้น แล้วดูมันจนมันดับไปเอง. เรากลับพยายามคิดค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อจะแก้ความสงสัยนั้น. การหลงคิดค้นไปนั้นเอง คือการหลงกลกิเลส. เพราะเราลืม “รู้” ไปเสียแล้ว มีแต่ คิด คิด คิด เรื่อยไป. การคิดเรื่อยไปนั้น ให้เราได้แค่ความรู้ความเข้าใจในระดับ “สัญญา”. แต่การรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งตัวความสงสัยเอง. กลับเป็นหนทางให้ได้มาซึ่ง “ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา”. เพราะปัญญาทางพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรมาก. เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ล้วนแต่ต้องดับไปทั้งสิ้น. ปัญญาแค่นี้ก็พอจะพาให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์แล้ว. เนื่องจากพอเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็นไตรลักษณ์. จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ที่กำลังปรากฏ. เมื่อจิตปล่อยวาง ไม่ดีดดิ้นวิ่งโลดไปตามอารมณ์ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย. ผู้ปฏิบัติบางคนคิดว่า ให้รู้เฉยๆ นั้น มันน้อยไป กลัวจะโง่หรือไม่พ้นทุกข์. จึงพยายามคิดเพื่อสนองความอยากรู้. โดยไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว “รู้” กับ “คิด” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน. หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้”. การเพ่งจ้องใส่อารมณ์ หรือจิตผู้รู้นั้น ผิดตรงที่ผู้ปฏิบัติหลง “เพ่ง” อยู่. ส่วนการคิดไปตามแรงขับของกิเลส ก็ผิดตรงที่ “เผลอ” ไปตามแรงชักจูงของกิเลส. ผู้ดูจิต มักผิดพลาดตรงนี้แหละ. คือถ้าไม่เพ่ง ก็เผลอ. ไม่ใช่การรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามความเป็นจริง. ด้วยจิตที่เป็นกลางที่แท้จริง. แต่ยังบังคับจิตบ้าง ปล่อยจิตให้เลื่อนไหลตามกิเลสไปบ้าง. พระพุทธเจ้าท่านสอนทางสายกลาง คือไม่หย่อนด้วยกาม และไม่ทรมานตนเอง. การเผลอไปตามอารมณ์ก็เสมือนหลงในกาม. การเพ่งบังคับจิตก็เหมือนการทรมานตนเอง. หากดำเนินจิตด้วยทางสายกลาง และเป็นกลางจริงๆ. จึงต้องทั้งไม่เผลอ และไม่เพ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น