วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559
จิตถ้าภาวนามาจนสุดขีดนะ มันจะเข้ามาสู่ภาวะแห่งความจนมุมนี้ มันจะหยุดแรงดิ้นใจของเราปกติจะไม่พอใจในปัจจุบัน มันจะไม่หยุดอยู่กับปัจจุบัน คิดไปถึงอนาคตเรื่อยๆ หวังความสุขเรื่อยๆ เอาเข้าจริงถ้าหัดภาวนาไปเรื่อยๆ จะรู้ว่าจริงๆ ความสุขไม่มีหรอก ในโลกมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นเลย ทุกข์มากกับทุกข์น้อย คนในโลกมันสติปัญญาไม่พอ เวลาทุกข์น้อยก็รู้สึกว่ามีความสุข เวลาพวกเราปฏิบัติ หัดแรกๆ พวกเราไม่มีสมาธิ พอจิตมันเกิดสมาธิขึ้นมามันมีความสุข เราเลยรู้สึกว่าปฏิบัติแล้วมีความสุข แต่พอถึงขั้นเจริญปัญญา มาเรียนรู้ความจริงของ รูป นาม กาย ใจ จะรู้สึกมันมีความทุกข์ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ใจนี้เป็นตัวทุกข์ แต่ใจต้องเป็นอุเบกขา ถ้าใจไม่เป็นอุเบกขาใจก็จะทุกข์ด้วย เราจะเห็นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาจะเป็น รูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย เห็นแต่ตัวทุกข์ทั้งหมดเลย แต่ใจจะไม่ทุกข์ด้วย ถ้าหัดแรกๆ เจริญปัญญาไป ใจมันไปอินกับความทุกข์ของรูปนาม ใจก็รู้สึกทุกข์ไปด้วย หัดมากเข้ามากเข้า เห็นว่ารูปนามมีธรรมดาเป็นทุกข์ มันเป็นธรรมดาที่รู้ทุกข์เป็นปกติ และใจก็เป็นอุเบกขา เวลาเราหัดภาวนาใหม่ๆ เราทำสมาธิขึ้นมา เรามีความสุข อยู่ๆ ความสุขก็ผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา อันนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ พอถึงขั้นเจริญปัญญาจะเห็นแต่ตัวทุกข์ ทุกข์ทีแรกใจยังยอมรับไม่ได้ ใจก็พลอยทุกข์กับขันธ์ นานๆไปเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าเราไม่สามารถหนีไปจากขันธ์นี้ได้ ขันธ์เป็นตัวทุกข์ ใจก็ยอมรับขันธ์ ขันธ์เป็นอย่างนี้แหละธรรมดา พอเห็นว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ใจมันก็เป็นอุเบกขา ตรงที่อุเบกขาเพราะมีปัญญาจะเป็นประตูของการบรรลุอริยมรรค ถ้าหากเราทำแต่สมาธิ เราไม่เดินปัญญาเลย ไม่มีวันที่อริยมรรคจะเกิดเลย ต้องเดินปัญญา แต่เดินปัญญาได้จิตต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิมีสองแบบ หลวงพ่อสอนมาแต่วันแรกเลย เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าพวกเราคิดว่าสมาธิมีแต่เรื่องทำให้จิตสงบละ เราจะเดินปัญญาไม่ได้จริง ศาสนาพุทธ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ รู้เป็นเรื่องของการรู้ มีความรู้ถูกเข้าใจถูกทั้งสิ้นเลย ไม่ใช่การนั่งสมาธิ เพราะความสุขจากการนั่งสมาธิมันไม่แน่นอน ตัวสมาธิเองก็ไม่แน่นอน เป็นโลกียธรรม เจริญได้ก็เสื่อมได้ เคยเข้าฌาณได้นานๆ ก็เข้าไม่ได้ก็มี อย่างเทวทัตเข้าฌาน ได้มีอภิญญาสุดท้ายก็เสื่อม เคยเหาะได้ ก็ให้คนหามไป สมาธิเป็นของไม่แน่นอนเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่ก็ต้องมีสมาธิที่ถูกชนิด สมาธิมีสองชนิด สมาธิอย่างที่หนึ่ง สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่นเราท่อง พุท โธ พุท โธ จิตเราสงบอยู่กับพุทธโธ เรารู้ลมหายใจ จิตเราสงบอยู่ที่ลมหายใจ หากเราดูท้องพองยุบ จิตเราสงบอยู่ที่ท้อง เราดูลูกแก้ว ดูพระพุทธรูป ดูเทียน จุดไป ดูไปเรื่อยๆ จิตสงบอยู่กับลูกแก้ว อยู่กับพระพุทธรูป อยู่กับเทียน อันนี้เป็นสมาธิที่ใช้ทำสมถะเพื่อพักผ่อน ไม่ใช่สมาธิเพื่อการเดินปัญญา สมาธิเพื่อการเดินปัญญา พูดภาษาไทยง่ายๆ คือความรู้เนื้อรู้ตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจไม่ลืมตัวเอง ธรรมดาพวกเราทั้งหลายเรามีร่างกาย แต่เราลืมร่างกายของตัวเองทั้งหมด เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจของตัวเองทั้งวัน อย่างเราไปท่องพุท โธ พุท โธ ร่างกายเราก็ลืมไป หรือเราไปรู้ลมหายใจ เราไปเพ่งไฟ เพ่งพระพุทธรูป เพ่งอะไรก็ตาม อย่างเราไปเพ่งพระพุทธรูป สุดท้ายพระพุทธรูปก็เป็นปฏิภาคนิมิตขึ้นมาเป็นแก้วใส ใสขึ้นมาเป็นเรื่องของนิมิต ปฏิภาคนิมิต เห็นแต่พระพุทธรูป ร่างกายหายไป จิตใจเราจะสุขจะทุกข์จะดีจะชั่ว ตัวเราไม่เห็นแล้ว สมาธิชนิดแรกคือ จิตไปจดจ่ออยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วก็ลืมกายลืมใจตัวเอง เมื่อลืมกายลืมใจก็ไม่สามารถที่จะเจริญปัญญาเรียนรู้ความเป็นจริงของกายของใจได้ “เราจะเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ต้องไม่ลืมกายลืมใจ” รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายบ่อยๆ รู้สึกถึงความที่มีอยู่ของจิตใจบ่อยๆ จิตใจเรานี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย รู้สึกบ่อยๆ จิตใจเรานี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย รู้สึกบ่อยๆ เราไม่ลืมกายลืมใจ รู้สึกถึงกายบ่อยๆ รู้สึกถึงใจบ่อยๆ ไม่นานเราก็จะเห็นความจริงของกายของใจ ความจริงของร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ปวดเมื่อย ร่างกายมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ ไปเดินนานๆ ก็ถูกความทุกข์บีบคั้น ให้ดูที่ของจริงที่ถูกความทุกข์มันบีบคั้นอยู่ตลอด แต่ตอนแรกการเปลี่ยนอิริยาบทใหม่ๆ ความทุกข์ยังอ่อนอยู่ เราก็รู้สึกมีความสุข พออยู่ในอิริยาบทเดียวนานๆ ความทุกข์ก็ค่อยๆ เด่นขึ้น จนสุดท้ายทนแทบไม่ไหว นั่งสมาธิแข้งขาจะหัก หรือไปเดินจงกรมปวดเมื่อยไปหมดเลย ร่างกายไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง กระทั่งจะนอนก็ยังถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คืนหนึ่งๆ พวกเราพลิกตั้ง 30 – 40 ครั้ง เรามีสติอยู่ หลับอยู่ก็ยังมีสติอยู่ จะรู้เลยร่างกายเคลื่อนไหวเรื่อยๆ หยุดประเดี๋ยวหนึ่งก็เคลื่อนไหว ทำไมร่างกายต้องเคลื่อนไหว มันเคลื่อนไหววิ่งหนีความทุกข์ ความทุกข์ตามมาทันทีก็หนีไปทีหนึ่ง ขยับตัวหนีไป เดี๋ยวความทุกข์ก็ตามมาทันอีก ก็ขยับหนีไปอีก ความทุกข์เหมือนหมาล่าเนื้อวิ่งไล่กันเราทั้งวัน ถ้าเรามีสติอยู่ในกาย เราจะเห็นเลยร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา กระทั่งการหายใจ เราหายใจออกก็เพื่อแก้ทุกข์ เราหายใจเข้าก็เพื่อแก้ทุกข์ อย่างเราหายใจออกไปเรื่อยๆ ความทุกข์มันก็จะเพิ่มขึ้น สุดท้ายเราทนไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบทของการหายใจ ก็ต้องมาหายใจเข้า หายใจเข้านึกว่าจะสบายหายใจเข้าไปสักพักเดียว ความทุกข์ก็ตามมาทันอีกแล้ว ต้องหายใจออกแก้ทุกข์อีก สุดท้ายคือเราวิ่งหนีความทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกายนี้ตลอดเวลา แต่เราวิ่งมาจนชินเราไม่รู้ว่ามันทุกข์ มันปวดมันเมื่อยเราก็ขยับตัวเลย เราไม่ทันรู้ว่ามันปวดมันเมื่อยขึ้นมา มันมีความทุกข์อะไรเกิดขึ้น เราละเลยที่จะรู้ เพราะเราคุ้นเคยชินกับมันมาก แต่วันใดเจ็บป่วยมากๆ กระดุกกระดิกไม่ได้บางคนเป็นอัมพาต ปวดเมื่อยแค่ไหนก็กระดิกไม่ได้ นอนไปเรื่อยๆ จนเป็นแผลกดทับตัวเน่าไปเลย ทุกข์มากขยับไม่ได้ สุดท้ายร่างกายของเราก็จะทุกข์มาก ถึงจุดหนึ่งมันจะทุกข์จนกระทั่งตาย นี่เป็นสิ่งที่พวกเราต้องเจอในวันหนึ่งข้างหน้า ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าถึงวันหนึ่งจะชอบหรือไม่ชอบ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความทุกข์ขยี้ร่างกายนี้จนแตกสลายลงไป นี่คือความจริงในร่างกาย ถ้าเรามีสติปัญญาเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ให้รู้สึกเรื่อยๆ ดูของจริงเรื่อยๆ ไม่ไปคิด ไปปรุง ไปแต่งอะไร เราก็จะเห็นเลยร่างกายนี้เต็มไปด้วยก้อนทุกข์แท้ๆเลย บางเวลาทุกข์มาก บางเวลาก็ทุกข์น้อย และความทุกข์ วิ่งตามตลอดเวลา สุดท้ายเราหนีไม่ทัน สุดท้ายมันจะขยี้เราตาย เป็นอย่างนี้ทุกคนเลย ถ้าใจเราเห็นความจริงอย่างนี้ได้ มันก็จะรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ได้น่ารักน่าหวงแหน ความยึดถือในร่างกายนี้ก็ลดลงๆ ถึงจุดหนึ่งไม่ยึดถือในกาย เมื่อเราไม่ยึดถือร่างกาย ร่างกายจะแก่เราจะไม่เดือดร้อน ใจเราจะไม่เดือดร้อน ร่างกายจะเจ็บก็เจ็บอยู่ที่ร่างกาย จิตใจเราไม่เดือดร้อนด้วย เพราะจิตไม่ได้เข้าไปจับ ร่างกายจะตายก็เรื่องของร่างกาย จิตไม่เดือดร้อนด้วย จิตใจไม่ได้ยึดถือร่างกาย “เรายึดถือสิ่งใดมากเราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้นมาก” อย่างรักใครมากสักคนหนึ่ง เราก็จะทุกข์เพราะคนนี้เยอะ คนที่เราเป็นกลางๆ เราไม่ได้รักไม่ได้เกลียดมาก ก็ทำให้เราทุกข์ไม่ค่อยได้หรอก คนที่เรารักมากๆ มาทำให้เราทุกข์ได้เยอะเลย งั้นสิ่งที่เรารักมากก็คือร่างกายกับใจของเราเอง รักที่สุดเลย นำความทุกข์มาให้เราเยอะที่สุด ถ้าเมื่อไรเกิดหมดความรักใคร่ยึดถือในกายในใจ มันจะนำความทุกข์มาสู่ใจเราไม่ได้ ความทุกข์จะจบลงที่ร่างกายแค่นั้นเอง เป็นความทุกข์ตามธรรมาชาติ ตามธรรมดา แต่ใจเราจะไม่เป็นทุกข์ด้วย พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบความทุกข์เหมือนลูกธนู ท่านบอกว่า คนโดยทั่วไป ได้รับความทุกข์ทางกายเหมือนถูกยิงด้วยธนูดอกที่หนึ่ง ตามมาด้วยความทุกข์ทางใจอย่างรุนแรงเหมือนถูกธนูดอกที่สอง พระอรหันต์ทั้งหลาย ความทุกข์เข้าได้ที่ร่างกายเท่านั้น จะเข้ามาถึงจิตใจไม่ได้เลย ถูกก็ถูกดอกเดียว สบายกว่าพวกเรา แต่ไม่มีความทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางร่างกายเป็นปกติ เป็นธรรมดา แต่พวกเรายึดถือร่างกาย พอวันหนึ่งความทุกข์ในร่างกายเด่นชัดขึ้นมา จะเราทุรนทุรายไปด้วย เพราะมันเป็นร่างกายของเรา พอเรามาหัดดูความจริงในร่างกายมากๆ มีแต่ความทุกข์ ความยึดถือว่ามันเป็นของดีของวิเศษเป็นตัวเราของเรา ก็จะค่อยๆสลายตัวไป ถึงจุดหนึ่งไม่ยึดถือในกาย เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี จะไม่ยึดถือในกาย ในด้านจิตใจเราก็มาคอยดูตลอดเวลาตลอดชีวิต เราพยายามหาความสุขให้กับจิตใจของเราตลอดเวลา กลุ้มใจขึ้นมาก็ไปดูหนัง หวังว่าจะมีความสุข ดูหนังไม่พอ ไปฟังเพลง ไปร้องเพลงคาราโอเกะ ไปอย่างโน้นไปอย่างนี้ ไปหาของกินให้อร่อย การไปหาของกินให้อร่อยมีความสุขทางร่างกายหรือเปล่า ลิ้นไม่ได้มีความสุขด้วยเลย คนที่รู้รสคือลิ้น ลิ้นไม่เคยมีความสุขอะไรด้วยเลย ต้องกระดุกกระดิกอยู่อย่างนั้นเผลอๆ ถูกฟันกัดเข้าให้อีก มันมีความสุขทางใจ มีความพอใจที่ใจ เป็นการเสพของใจ ไปดูของสวยของงาม ดูเพื่อให้สบายใจ มันเป็นการเสพของใจ หรือการที่เราต้องไปอยู่กับคนคนนี้ เรารักคนนี้ ได้อยู่กับคนนี้แล้วสบายใจ บางทีก็ลำบากกายด้วยซ้ำไป ต้องไปเลี้ยงอีกคนโห...ลำบาก แต่มันสบายใจ เราต้องการความสุขทางใจสาระพัดที่จะทำ วันหนึ่งๆ หาอารมณ์ต่างๆ มาป้อนเข้ามาเพื่อหวังว่าจิตใจจะมีความสุข แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมาจริงๆ เราจะเห็นความสุข สั้นนิดเดียว ความสุขในใจเกิดขึ้นชั่วไม่นานก็ดับไป กระทั่งความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น กระทั่งเรามีสติปัญญาจริงๆ เราก็จะเห็นว่าไม่นานมันก็จะผ่านไป ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความดีในจิตใจที่เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง ความชั่วที่เกิดขึ้นในใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเลยที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตของเรา สังขารความปรุงทั้งหลาย จะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่วอะไรทั้งหลาย มีแต่ของไม่เที่ยงทั้งหมดเลย พอเราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ความสุขก็ช่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว ความดีก็ชั่วคราว ความชั่วก็ชั่วคราว พอเห็นซ้ำมากๆ ใจก็ยอมรับความจริง ความสุขเกิดขึ้นก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่นานมันก็หายไป เพราะงั้นใจไม่ดิ้นรน ใจเราจะไม่เข้าไปเสพความสุขอันนั้น ความสุขมีอยู่ แต่ใจไม่ดิ้นรนหรอกเพราะรู้ว่ามันไม่นิรันดรหรอก ความทุกข์เกิดขึ้นใจก็ไม่ดิ้นรนหนี ไม่ดิ้นรนปฏิเสธ รู้ว่ามันของชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ผ่านไปใจมันก็เป็นกลาง เวลาโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ไปเกลียดมัน และไม่ได้ถูกมันครอบงำ คนทั้งหลาย พอความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นแล้ว จิตก็จะถูกกิเลสเหล่านี้ครอบงำ ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ ความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน มันจะกระเด็นหายไปต่อหน้าต่อตา หายในขณะนั้นเลย ไม่ต้องทำอะไร สักอย่างเดียวเลย ทันทีที่สติเกิด อกุศลดับทันทีเลย นี่เป็นกฎของธรรมะ เป็นกฎธรรมดา “ที่ใดมีสติที่นั่นไม่มีกิเลส ที่ใดมีกิเลสที่นั่นไม่มีสติ” ถ้างั้นเมื่อไรเรามีสติขึ้นมา เรารู้ทันว่าความโกรธกำลังเกิด ไม่ต้องทำอะไรหรอก ความโกรธจะกระเด็นหายไปต่อหน้าต่อตา ความโลภ ความหลงจะกระเด็นหายไปต่อหน้าต่อตา ความทุกข์ทางใจก็จะกระเด็นไปต่อหน้าต่อตา เพราะความทุกข์ทางใจเกิดร่วมกับความโกรธเสมอ เกิดร่วมกับโทสะเสมอ แต่ความสุขทางใจ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล อย่างเวลาที่จิตมีราคะบางทีก็มีความสุข งั้นถ้าเป็นความสุขอันเกิดจากราคะ มีสติรู้ทันราคะ ราคะดับ บางทีความสุขนี้ก็ดับไปด้วย แต่ถ้าเป็นความสุขในทางบวก ความสุขจากการทำความดี เป็นความสุขจากกุศลพอมีสติรู้ทันมันไม่ดับ ไม่จำเป็นต้องดับทันทีหรอก แต่มันก็เกิดดับร่วมกับจิต ดับปุ๊บ มันก็เกิดขึ้นอีก ดับปุ๊บก็เกิดขึ้นมาอีก มีความสุขเหมือนมีความสุขที่ยาวขึ้นมา ไม่ได้ดับทันทีเหมือนความสุขความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ความทุกข์ เจือด้วยกิเลสตลอด ความทุกข์ทางใจ แต่ความสุข เป็นกิเลสก็มีเจือกิเลสก็มี ไม่เจือกิเลสก็มี อย่างใจของเราคิดถึง พระพุทธเจ้า เราสวดมนต์ เรามีสมาธิอะไรอย่างนี้ มีความสุข พวกนี้เรามีสติรู้ไม่หาย แต่ถ้าเรามีความสุขจากราคะ พอมีสติรู้ทันราคะ พวกราคะดับปุ๊บ ความสุขตัวนี้ก็หายไปด้วย และความสุขความทุกข์ทางกาย เรามีสติรู้มันจะดับมั๊ย มันไม่เกี่ยวกัน ความสุขความทุกข์ทางกายเป็นเรื่องของวิบาก เป็นเรื่องของวิบากไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่กิเลสไม่ได้เกิดร่วมกับกิเลสด้วย แต่มันเป็นผล เป็นตัววิบาก และอย่างเจ็บไข้ได้ป่วย มีสติ มันจะหายป่วยมั๊ย ไม่หาย คนละเรื่องกันเห็นมั๊ย ร่างกายสุขภาพแข็งแรงอยู่ไม่มีสติแล้ว จะอ่อนแอปวกเปียกไปเลยมั๊ย ไม่เป็น งั้นทางกายไม่เกี่ยว เกี่ยวแต่ทางใจ ถ้าความสุขเจือด้วยราคะ ถ้ามีสติปุ๊บมันจะหายไปเลย ถ้าความทุกข์อันนี้เจือด้วยโทสะแน่นอน ทันทีที่รู้ทันมันจะดับสนิททันทีเลย งั้นใจเรา ถ้าพอมีสติเรื่อยๆ จะไม่มีความทุกข์ทางใจ ในขณะที่เรามีสติอยู่จะมีความทุกข์ทางใจไม่ได้ เพราะไม่มีโทสะแต่ว่ามันไม่มีความทุกข์ เพราะอาศัยสติ เมื่อไรขาดสติความทุกข์ก็กลับมาอีก เราต้องพัฒนาคุณภาพจิตใจของเราต่อไป ไม่ใช่มีแค่สติ สติแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้นไม่ได้แก้รากฐานของปัญหา สติคล้ายๆ พาราเซตามอล พอกิเลสเกิดสติรู้ทันกิเลสก็หาย เดี๋ยวกิเลสก็มาอีก งั้นต้องพัฒนาจนถึงขั้นที่ฆ่ามันด้วยโลกุตตระปัญญา ฆ่ามันด้วยมรรคมันถึงจะตายสนิทไม่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกละ หัดเจริญสติ เจริญปัญญาเรื่อยไป ดูในกายมีแต่ความทุกข์ ดูที่ใจมีแต่ของไม่เที่ยง และก็มีความบังคับไม่ได้ในใจเรา แสดงการบังคับไม่ได้อยู่เด่นชัดมากเลย สั่งให้สุขมันก็ไม่ยอมสุข ห้ามทุกข์มันก็จะทุกข์ สั่งให้ดีมันก็ชั่ว ห้ามชั่วมันก็ชั่ว สุดท้ายมันก็เลยชั่วอยู่นั่นแหละ สั่งให้ดีมันก็ชั่ว ห้ามชั่วมันก็ชั่ว ส่วนใหญ่ก็เลยชั่วอยู่นั่นแหละ รู้สึกมั้ยวันหนึ่งๆ อกุศลมากกว่ากุศลนึกออกมั๊ย ถ้าเฝ้ารู้ไปก็จะเห็นกาย เป็นตัวทุกข์ชัดเจน จิตใจเป็นอนิจจังอนัตตา ชัดเจนสั่งมันไม่ได้และก็เปลี่ยนรวดเร็วมาก ร่างกายดูเป็นอนิจจังยากนิดหนึ่ง ถ้าไม่ทรงฌาณจริงๆ ดูยากมากเลย เพราะว่ารูปร่างมันอายุยืน แต่นามธรรมนั้นอายุมันสั้น ความรู้สึกเรา เปลี่ยนเร็ว หน้าตาเราเปลี่ยนช้ากว่าความรู้สึกนึกออกมั๊ย และหน้าเราเปลี่ยนตามความรู้สึกบ้างมั๊ย เปลี่ยนนะ ถ้าภาวนาพอจิตตื่นหน้าสว่างเลย ใครรู้สึกตัวบ้างว่าหน้าตาผ่องใส สว่าง หรือหน้าเหมือนลิงเหยียบอยู่อย่างนั้น รูปบางทีก็เปลี่ยนไปเพราะจิตสั่ง จิตมันเปลี่ยนรูปก็เปลี่ยน รูปบางอย่างก็เปลี่ยน รูปบางอย่างเปลี่ยนไปเพราะสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนรูปก็เปลี่ยนก็มี เปลี่ยนไปเพราะกรรมก็มี กรรมตัดรอน แข็งแรงอยู่ดีดี เป็นมะเร็งป่วยไปก็มี งั้นรูปเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง เปลี่ยนแปลงเพราะอาหารก็ได้ กินอาหารไปเรื่อยๆ รูปก็เปลี่ยน อดอาหารไปเรื่อยๆ รูปก็เปลี่ยนอีก งั้นรูปเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง จิตใจจองเราก็เปลี่ยนเรื่อยพอรู้สึกไปในที่สุดจะเห็น พอเราไม่ลืมกายลืมใจ รู้สึกกายรู้สึกใจบ่อยๆ มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวบ่อยๆ สุดท้ายก็จะเห็นความจริงร่างกายนี้ไม่น่ารักหรอกเป็นทุกข์ จิตใจนี้ควบคุมไม่ได้ มีแต่ของไม่เที่ยง ความจะหลงยินดีในความสุข ความเกลียดชังในความทุกข์ ความหลงยินดีในกุศล ความเกลียดชังในอกุศลก็หายไป จิตเข้าสู่ความเป็นกลางเหมือนที่ดูรูป สุดท้ายก็จะเข้าสู่ความเป็นกลาง ดูจิตใจสุดท้ายก็เข้าสู่ความเป็นกลางเหมือนกัน เพราะหนีไม่ได้ พอใจเข้าถึงความเป็นกลาง ใจจะหมดความดิ้นรน เมื่อใจหมดความดิ้นรน จิตจะรวมลงเข้าอัปนาสมาธิด้วยตัวของมันเอง ชาตินี้เราไม่เคยเข้าสมาธิลึกขนาดอัปนาสมาธิเลยก็ไม่เป็นไร เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยไป ถึงวันที่เขาพอ จิตจะรวมเข้าอัปนาสมาธิของเขาเอง เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะพอวันไหนเวลาไหน เพราะอย่างนั้นเราต้องมีสติบ่อยๆ บางคนสะสมบุญบารมีเจริญสติ เจริญปัญญามา เกือบจะเกิดอริยมรรคแล้วอีกนิดเดียวก็จะเกิดอริยมรรค เกิดขี้เกียจไปทำธุระอื่นก่อน เลิกปฎิบัติไปก่อน ไม่ดูกาย ไม่ดูใจ ลืมสติไปเลย เสื่อมอีก ต้องมาทำใหม่ อย่างพวกเราหลายๆคนภาวนาเจริญๆ เดี๋ยวขี้เกียจขี้คร้านหน่อยเดี่ยวหายไปอีกละ เพราะอย่างนั้นขี้เกียจไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าบารมีเราจะเต็มวันไหน เพราะอย่างนั้นเราพยายามทำทุกๆวัน ถึงวันที่มันเต็มจะได้ไม่พลาดโอกาส เพราะอย่างนั้นเดี๋ยวพลาดโอกาส เวลาที่มันเต็ม จิตจะรวมเข้าอัปนาสมาธิ มันรวมเอง พอรวมแล้ว มันจะเห็นสภาวะธรรมภายใจ เกิดดับ สภาวะอันนี้จะเป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่มีการสำคัญมั่นหมายว่ามันคืออะไร ไม่มีคำพูดหรอก เห็นแต่สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นก็ดับไป สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็ดับไป พวกที่ปัญญาแก่กล้า จะเห็นเพียงสองครั้ง เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นสองครั้งเท่านั้น พวกปัญญากล้า ถ้าปัญญาไม่กล้าก็จะเห็นสามครั้งถึงจะพอ เสร็จแล้วจิตมันจะปล่อยวาง มันจะวางการที่ไปรู้สภาวะที่เกิดดับ มันจะวางสภาวะนั้นทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ตรงที่มันวางสภาวะ มันพ้นจากความเป็นปุถุชนแต่มันยังทวนกระแสเข้ามาไม่ถึงตัวธาตุรู้ ธรรมธาตุแท้ ยังไม่ใช่พระอริยะ คาบลูกคาบดอกอยู่ สภาวะคาบลูก เกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียว เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้นเอง เสร็จแล้วพอมันเข้ามาถึงจิตถึงใจแท้ๆ สติระลึกลงที่จิตโดยไม่เจตนาระลึก สมาธิตั้งมั่น จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิตโดยไม่มีเจตนาให้ตั้งมั่น ปัญญาเห็นความจริง เห็นอริยสัจจ์ของจิต ว่าจิตนี้แหละเป็นตัวทุกข์ จิต แหละเป็นตัวไม่เที่ยง เป็นตัวไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย เห็นครั้งแรก ปัญญาจะแจ้งขึ้นมาว่า จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เพราะงั้นในธรรมะขั้นแรก จะเห็นว่าไม่มีตัวเรา ตัวเราหายไป พอมันเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว อาสวะกิเลส ที่ห่อหุ้มจิตอยู่ จิตของเราจะถูก อาสวะห่อหุ้มอยู่ อาสวะย้อมอยู่ แทรกย้อมอยู่ ตรงที่ขณะแห่งอริยมรรคเกิดขึ้น อริยมรรคจะแหวก อาสวะอันนี้ขาดออกจากกัน อาสวะนี้ออกแล้วจิตจะเข้าสัมผัสพระนิพพาน สองสามขณะ พวกที่มีบารมีแก่กล้าสัมผัสพระนิพพานสามขณะ พวกที่ไม่แก่กล้าสัมผัสสองขณะไม่เหมือนกัน บุญบารมียังไม่เท่ากัน โสดาบันไม่เท่ากันเลย โสดาบางคนเกิดอีกชาติเดียวก็จะจบละ บางคนอีกสามชาติจะจบไม่เกิดอีก อีกบางคนเจ็ดชาติถึงจะไม่เกิด กำลังมันไม่เท่ากัน แต่ว่าล้างความเห็นผิดได้เท่ากันว่าตัวตนไม่มี พอถอยออกจากสภาวะนี้ จิตจะกลับเข้ามาอยู่ยังความเป็นมนุษย์ปกติอย่างนี้แหละ แล้วมันจะทวนเข้าไปดูจิต มันจะทวนอัตโนมัติเข้าไปดู มันจะพบว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอีกต่อไป ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนอีกต่อไป ที่ไหนๆ ก็ไม่มีตัวตนอีกต่อไป จะกลวงๆ ว่างจากความเป็นตัวตนไปหมด อย่างคำว่าจิตว่าง จิตว่างไม่ใช่ว่างเปล่า ว่างเปล่านั้นมันหมายถึงว่า ไม่มีอะไรเลย มันเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ใช่ทาง คำว่าว่างว่าง ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน สภาวะนั้นมีอยู่แต่ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เพราะงั้นจะมีความรู้สึกว่ามันกลวงๆ มันว่างๆ ไม่มีตัวไม่มีตน แต่มีการกระทำ ยังมีการส่งกระแสจากความไม่มีตัวไม่มีตน จิตที่ไม่ใช่ตัวเรา และยังส่งกระแสไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปยึดอารมณ์ได้อีก เรียกว่ามีการกระทำแต่ไม่มีผู้กระทำ จะรู้ชัดเลยว่าการกระทำมีอยู่แต่ไม่มีผู้กระทำ จะเห็นอย่างนี้ จนวันที่เป็นพระอรหันต์ผู้กระทำก็ไม่มี การกระทำก็ไม่มี มีแต่กิริยา มีแต่กิริยากระทำ ว่าไม่มีการกระทำ มีเจตนาที่จะกระทำอะไร ธรรมะเป็นของปราณีตลึกซึ้งมาก พวกเราต้องศึกษาต้องเล่าเรียนจะเอาแต่นั่งสมาธิ นิ่งๆ ว่างๆ ไม่ได้กินหรอก ท่านสอนเจริญสติใช่มั๊ย รู้สึกในกาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้จิตใจ ที่เป็นกุศลอกุศล เรียกจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติรู้กระบวนการทำงานของรูปธรรม นามธรรม เรียกว่าธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของรูปธรรม นามธรรมทั้งสิ้น กายานุปัสสนาส่วนของกาย เป็นส่วนของรูปธรรม เวทนานุปัสสนา เป็นนามธรรม แต่เวทนาบางทีก็เกิดที่กายใช่ไหม บางทีก็เกิดที่จิต เกิดร่วมกับรูปธรรมก็ได้ เกิดร่วมกับนามธรรมก็ได้ จิตตานุปัสสนาที่ดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล กุศลอกุศลเกิดที่จิต แต่กุศลอกุศลก็อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งใจด้วยไปกระทบอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนของรูปธรรม แล้วก็สะเทือนเข้ามาถึงใจ เกิดสุข เกิดทุกข์ กุศล อกุศลขึ้น และกายกับใจก็เนื่องกัน เพราะงั้นเวลาที่เรา ภาวนาจริงๆ มันรู้ทั้งกาย รู้ทั้งใจ ไม่มีหรอกสายกาย สายจิต อะไร ไอ้สายกายสายจิตไรมันเป็นขั้นเบสิค ขั้นต้นเท่านั้นเอง พอสติ ปัญญา อัตโนมัติแล้วมันเลือกไม่ได้หรอกว่ามันจะรู้อะไร บางครั้งสติก็ระลึกรู้รูป รู้กาย บางครั้งสติ รู้เวทนา บางครั้งสติไปรู้ กุศล อกุศล บางครั้งสติไปรู้กระบวนการทำงานของจิต เช่นการปรุงนิวรณ์ขึ้นมา การปรุงโพชฌงค์ขึ้นมาเห็นขันธ์ห้าทำงานตามหน้าที่ของแต่ละขันธ์ขึ้นมา เห็นกระบวนการของปฏิจสมุปบาท คือกระบวนการที่จิตซึ่งมีความไม่รู้ มีอวิชชา ปรุงความทุกข์ขึ้นมา จะเห็นกระบวนการเป็นธรรมมานุปัสสนา ก็เป็นเรื่องรูปธรรม นามธรรม ทั้งสิ้น เฝ้ารู้ลงไปถ้าเราทิ้งการรู้กายรู้ใจ เราไม่มีวันบรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงจะนั่งสมาธิเก่งแค่ไหน อย่างเก่งสูงสุดไปพรหมโลกเท่านั้น เราอย่าไปหลงนิมิตไปติดนิมิต เวลานั่งสมาธิไปเห็นโน่นเห็นนี่ สู้เห็นกิเลสไม่ได้เลย มีสติอยู่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ว่า เรามีสติอยู่เพียงราตรีเดียว คืนเดียว ชีวิตของเราก็น่าชมละ ดีกว่ามีอายุตั้งร้อยปี ไม่เคยมีสติ งั้นเราไปเห็นนิมิต นิมิตอะไรร้อยปี หาสาระไม่ได้เลย ไม่มีสติ มีสติต้องรู้กาย รู้ใจของเรา เพราะงั้นถ้าเราเป็นชาวพุทธ ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ไม่งั้นมั่วซั่ว ไม่งั้น ก็ไปเป็นแบบฤาษีชีไพรซะส่วนใหญ่ ....... จบ.....
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น