วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558
ข้ามทะเลทั้งสี่แล้วจะถึงจิตหนึ่ง.ผมไม่มีอะไรแล้ว ผมอยู่กับความไม่มีไม่เป็นอะไรหรอก อู๊ยสะใจ สะใจจริงๆ จริงๆเราอยู่กับความไม่มีไม่เป็น แต่ความสำคัญมั่นหมายของเราเพราะความเห็นผิดนั่นนะ ไปสำคัญว่ามันมีมันเป็นขึ้นมา มันมีเรามีเขาขึ้นมา กว่าเราจะข้ามทิฎฐิ ที่ว่ามันมีเรามีเขาขึ้นมาได้นี้นะ ข้ามยาก อันนี้เป็นทะเลหรือเป็นมหาสมุทรอันแรกนะ ของผู้ปฎิบัติ เรียกว่าโอฆะ โอฆะแปลว่าห้วงน้ำห้วงมหาสมุทรอะไรอย่างนี้ มหาสมุทรในโลกมันมีกี่อัน จำไม่ได้แล้ว เคยเรียน แต่มหาสมุทรในการปฏิบัตินี้มันมี ๔ อันนะ ต้องข้ามให้ได้ให้หมดเลย มีทะเลอยู่ ๔ ทะเล ถ้าข้ามได้หมดก็จะเอาตัวรอดได้ มหาสมุทรอันแรกเลย คือ ทิฎฐิ ทะเลคือทิฎฐิ คือความเห็นผิดของเรานี้แหละ เราไปเห็นผิดในของที่ไม่มีตัวมีตน ว่ามีตัวมีตนขึ้นมา เวลาเรามองโลกแล้วสะดุดปั๊บขึ้นมาเลย เกิดเราเกิดเขา เกิดสัตว์เกิดคน เกิดต้นไม้ เกิดสิ่งโน้น เกิดสิ่งนี้ โลกนี้ลุ่มๆดอนๆ ในทางมหายานนะเคยมีสูตรอยู่สูตรหนึ่ง พระสารีบุตร ไปบอกพระพุทธเจ้าบอกว่า พระองค์ สร้างบารมีไม่ค่อยดีเท่าไร พุทธเกษตรของ.. หรือโลกของพระองค์ดูลุ่มๆดอนๆ พวกพระโพธิสัตว์ก็เถียง บอกว่าไม่จริงหรอก พุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าเนี่ยเรียบเลย ราบเรียบไปหมดเลย ไม่มีความเป็นลุ่มเป็นดอน ไม่มีอะไรสะดุดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนได้เลย มันว่างเปล่า แต่ไม่ใช่ว่างแบบไม่มีอะไร จริงๆนี่ก็แต่งเกินไป พระสารีบุตรไม่ได้โง่ขนาดนั้นหรอก สาวกรุ่นหลังๆ ภาวนาไปยังเห็นโลกว่างได้เลย ทำไมพระสารีบุตรท่านจะไม่เห็น มิจฉาทิฎฐิ เป็นสิ่งแรกที่พวกเราต้องภาวนา แล้วก็ข้ามมันให้ได้ คือเราสำคัญมั่นหมายว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เราไปแบ่งแยกสมบัติของโลกส่วนหนึ่งออกมาเป็นตัวเราขึ้นมา ส่วนที่เหลือมันก็เป็นคนอื่น เป็นสิ่งอื่นๆ เป็นสิ่งที่แวดล้อมอยู่ ไปแบ่งตัวเองออกมา สำคัญมั่นหมายว่ามี ว่าเป็น เป็นโน่นเป็นนี่ด้วยนะ เป็นใหญ่เป็นโต เป็นคนดีเป็นคนเลว เป็นพวกทุศีลเป็นพวกมีศีล แบ่งตัวเองออกไปจากธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอะไรอยู่แล้ว เสมอภาคกันทั้งหมด พอมีตัวเราขึ้นมาก็มีมิจฉาทิฎฐิต่อไปอีก ถ้าตัวเราตายไป เราไปเกิดอีก ตัวเราเที่ยง จิตเรานี้เที่ยง ร่างกายแตกสลายไป จิตนี้ยังไม่เกิดได้อีก นี่ก็มิจฉาทิฎฐิแขนงหนึ่ง เรียกว่า สัสตทิฎฐิ อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตัวเรามีอยู่ แล้วตายไปก็หายไปเลย นี่ก็เป็นมิจฉาทิฎฐิอีก เรียกว่า อุจเฉทิกทิฎฐิ รากเหง้าของมันก็เริ่มมาจากความมีตัวเรานี่แหละ มีตัวเราแล้วก็มีตัวเราอย่างเที่ยงแท้ถาวร หรือมีตัวเราชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หายสาบสูญไป ทะเลทิฎฐินี้จะข้ามได้ต้องเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ๔ ทะเลนี้ พวกเรายังข้ามไม่ได้สักทะเลหนึ่งเลยนะ ข้ามได้แค่ริมทะเลอะไรอย่างนี้ เที่ยวๆไปอย่างนี้ จะข้ามทิฎฐิตัวนี้ได้ต้องมีสติ มีปัญญา มีสัมมาสมาธิ มีสติรู้ลงมาในกายในใจนี่ มีใจที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ สักว่ารู้ สักว่าดู เวลาดูกายจะรู้สึกเหมือนว่ากายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เวลาดูเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ มันจะรู้สึกว่าเวทนาอยู่ส่วนหนึ่งจิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง มีช่องว่างนะ ไม่ ไม่เป็นอันเดียวกัน มีช่องว่างมาคั่น เวลาดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล จะเห็นเลย อกุศลหรือกุศลทั้งหลายนะ กับจิตเนี่ยคนละอันกัน มีช่องว่างมาคั่น พวกเราดูออกแล้วใช่มั้ย เนี่ยเราดูไปเรื่อยนะ ใจเราตั้งมั่นจะสักว่ารู้สักว่าดูได้ เสร็จแล้วปัญญามันถึงจะเกิด มันจะเห็นเลย ทุกสิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้าล้วนแต่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป บังคับไม่ได้สักอันเดียว ดูมาจนกระทั่งถึงจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูนี่เอง ก็เห็นมันเกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เป็นผู้รู้บ้าง เป็นผู้หลงบ้าง ดูไปดูมาในขันธ์ ๕ นี้ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีตัวเราที่แท้จริง ให้มีสติรู้ลงมาในกายในใจนี้นะ ถึงจะละมิจฉาทิฏฐิได้ ข้ามทะเลตัวแรกได้ เหลืออีก ๓ ทะเล ข้ามยากนะ ทะเลหรือโอฆะตัวต่อไปคือกาม ข้ามยาก พวกเรา เห็นแต่กามคุณ เราไม่เห็นกามโทษ ทำให้เราข้ามไม่ได้ กามคืออะไร กามก็คืออารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ อย่างเราเห็นรูปที่สวยๆอย่างนี้ รูปนั้นเรียกว่ากาม หูเราได้ยินเสียงที่เพราะๆ ถูกอกถูกใจ เรียกว่ากาม กลิ่นหอมๆ ถูกอกถูกใจ นี่เขาเรียกว่ากาม รสอร่อยๆก็เรียกว่ากาม สัมผัสที่นุ่มนวล อบอุ่น สบาย อะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่ากาม การคิดคำนึงถึงอารมณ์เหล่านี้ เป็นกามทางใจ เรียกว่า กามธรรม พวกเราเกิดมา เราก็แสวงหาแต่อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจมาตลอดชีวิต เราเห็นว่าถ้าได้อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจได้แล้วเราจะมีความสุข งั้นเราเห็นว่ากามเนี่ยนำความสุขมาให้ ยากนักยากหนานะจะกล้าข้ามพ้นอำนาจของกามได้ ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีข้ามไม่ได้ ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะข้ามพ้นทะเลอันที่สองคือทะเลกาม เคยได้ยินใช่มั้ย คนชอบพูดทะเลกาม แต่ไม่มีคนพูดทะเลทิฎฐิใช่มั้ย เพราะอะไร เพราะคนพูดเนี่ยยังมีทิฎฐิอยู่ ก็พูดไปอย่างนั้นแหละ ทะเลกาม ข้ามยาก ข้ามยาก ต้องรู้ลงมาอีก รู้ลงมาในกายในใจนี้น่ะนะมากๆ จนวันใดเห็นนะว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ มันจะหมดความเพลิดเพลินยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลาย หมดความติดอกติดใจในกามคุณทั้งหลาย มันหมดของมันเองนะ ถ้ามันเห็นตัวนี้.. อย่างสังเกตมั้ย คนไหนเจ้าชู้มากๆนะ เกิดเจ็บหนักใกล้จะตายนะ หรือตัวเป็นแผลทั้งตัวแล้ว อะไรมาถูกนิดนึงก็แสบก็ปวดเนี่ย ให้มันไปกอดนางงามจักรวาลมันก็ไม่เอานะ เพราะมันไม่มีความสุขแล้ว ถ้าเมื่อไรเราเห็นกายนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆนะ มันจะไม่สนใจกามแล้ว จะไม่สนใจกามแล้ว ตาเห็นรูปจะสักว่าเห็นเลย ไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับมันแล้ว หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส นะ จิตใจจะไม่ยินดียินร้าย มันไม่รักกายก็จะไม่รักกาม ทะเลทิฏฐิเหมือนทะเลที่กว้างนะ ถ้าเทียบ เหมือนทะเลที่กว้างขวางไร้ขอบไร้เขต หลงเข้าไปแล้วไม่รู้จะไปทางไหนเลย ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เพราะฉะนั้นปุถุชนทั้งหลาย หลงอยู่ในทะเลที่ไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ทางไหน มีพระพุทธเจ้ามาบอกทาง ทางนี้.. ทางนี้.. นะ คนที่รู้ทางเรียกว่าพระโสดาบัน รู้แล้ว ไปทางนี้แหละ ปลอดภัย งั้นจะข้ามทะเลทิฏฐิได้นะ ยาก เป็นทะเลที่กว้าง ไร้ขอบไร้เขต ดูอะไรดูไม่ออกหรอก ดูยาก แต่ข้ามได้ด้วยการที่เห็นลงมาในกายในใจว่าไม่ใช่เรา ทะเลกามนี้จะข้ามได้ เมื่อหมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือในกาย ถัดจากนั้นเหลืออีกสองทะเลนะ คือทะเลของภพ และทะเลของอวิชา เรียกว่า ภวะโอฆะ กับ อวิชาโอฆะ โอฆะคือภพ โอฆะคืออวิชา ห้วงน้ำ ภพคืออะไร ภพคือการทำงานของจิต สังเกตมั้ยพวกเราภาวนา เห็นมั้ย จิตทำงานทั้งวันทั้งคืน หมุนจี๋ จี๋ จี๋ ทั้งวันทั้งคืน เห็นมั้ยจิตเดี๋ยวก็วิ่งพล่านๆไปทางตา เดี๋ยววิ่งพล่านๆไปทางหู วิ่งพล่าน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพักนะ จิตนี้สร้างภพสร้างชาติหมุนติ้วๆอยู่ภายในตลอดวันตลอดคืน จะข้ามมันไม่ใช่ง่ายนะ แค่เห็นมันยังยากเลย ภาวนากว่าจะเห็นจิตเข้าไปทำงานตรงนี้ยังยากแสนเข็ญเลย รู้สึกมั้ย นะ จะข้ามทะเลของภพได้นะ ภพนี้เหมือนทะเลที่น้ำเชี่ยว เพราะหมุนจี๋ จี๋ จี๋ ทั้งวันทั้งคืนนะ เดี๋ยวซัดไปทางโน้นซัดไปทางนี้ นะ กระแสน้ำนี้รุนแรง กระแสน้ำที่ซัดจิตใจเราวิ่งไปวิ่งมา พล่านๆทำงานไปในภพก็คือ ตัณหา นั่นเอง ตัณหาเป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่เลย เหมือนกระแสน้ำเชี่ยวที่ซัดเราไป ซัดไปไม่รู้ทิศทางเลยนะ สร้างภพไปเรื่อย เดี๋ยวไปเกิดที่ตา เกิดที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ จะข้ามภพข้ามชาติได้ ก็ต้องละตัณหาได้ ทีนี้ตัณหาเกิดจากอะไร ตัณหาเกิดจากอวิชา นี้ ทะเลตัวสุดท้ายนี้ ข้ามยากที่สุด ถ้าข้ามตัวนี้ได้นะ จะหลุดจากน้ำเชี่ยวนี้ได้ด้วย อวิชาเหมือนทะเลหมอก น้ำสงบนะ ไม่มีคลื่น ไม่มีลม สบายๆ แต่เหมือนมีหมอกปกคลุมจนไม่รู้อะไรเลย บางทีเราอยู่ห่างฝั่งใช่มั้ย ถูกคลื่นซัดตูมตาม ตูมตาม กระเสือกกระสนเข้ามา จนจะถึงฝั่งอยู่แล้ว เกือบถึงฝั่งแล้วนะ มันมีหมอกลง มันมองไม่เห็น ว่ายไปว่ายมา ว่ายออกทะเลลึกไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นข้ามอวิชานี้ยากที่สุดเลย ทะเลตัวนี้จะข้ามได้ต้องเห็นอริยสัจจ์ เห็นไม่เหมือนกันนะ เห็นมั้ย เห็นอริยสัจจ์ เห็นแจ้งอริยสัจจ์ อริยสัจจ์ที่ตัวลึกซึ้งที่สุดเลย คือการเห็นว่าจิตเป็นทุกข์นี่เอง นะ เราภาวนาไปนาน เราเห็นแต่จิตเป็นสุข เพราะจิตเริ่มสงบแล้ว ใช่มั้ย ข้ามทะเลโน้นทะเลนี้มาถึงภพที่สงบ ภพที่ไม่มีคลื่นมีลมแล้ว จิตใจก็พอใจ รักใคร่พอใจอยู่แค่นี้แหละ สบายใจแล้ว เสร็จแล้วก็ว่ายกลับไปกลับมาแล้ว ถูกคลื่นซัดออกไปอีกแล้ว ถ้าเป็นปุถุชนเนี่ย ซัดไปหาทิฎฐิเลย เกิดมิจฉาทิฎฐิได้เรื่อยๆนะ ถ้าไม่ใช่พระอนาคาฯ ก็หลงไปในกามได้อีก เพราะฉะนั้นมันพร้อมจะถอยหลังได้ ทีนี้จะละอวิชาได้นะ ต้องรู้อริยสัจจ์ รู้ลงมานะ กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆเลย พวกเรามีแต่อวิชา เราเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง นี่อวิชานะ อวิชาพาให้เห็น ไหนสารภาพมา มีใครรู้สึกมั้ย กายนี้ เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง มีมั้ย สารภาพ มีผู้ร้ายปากแข็งครึ่งห้อง นะ ไม่ยอมสารภาพ นะ พวกเรารู้สึกมั้ย จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เห็นอย่างนี้แหละ อวิชา ถ้าเห็นอย่างมีวิชา ก็จะเห็นว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง เห็นยากนะ ถ้าสติ สมาธิ ปัญญา ไม่แก่กล้าพอ มันไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆ โดยเฉพาะจิตเนี่ย จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้สงบ สะอาด สว่าง แหมฟังแล้วดีทั้งนั้นเลย ใช่มั้ย จะให้เห็นว่าเป็นทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ง่ายนะ ปฎิบัติกันปางตายเลยล่ะ เหมือนเอาชีวิตเข้าแลกเลยนะ ถึงจะเห็น เพราะฉะนั้นทะเลตัวนี้ ทะเลอวิชา เป็นทะเลที่เรียบๆนะ แต่ยากสุดๆเลย ยากมากเลย จับต้นจับปลายไม่ถูก นะ มีแต่เรียนรู้นะ มาตามลำดับๆ รู้กาย รู้ใจมาตามลำดับ พอรู้กายถูกต้องแจ่มแจ้งได้พระอนาคาฯ จิตใจก็จะสบายขึ้นเยอะเลย จะไม่แส่ส่ายไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเหลือแต่ความสงบสุขอยู่ภายใน เพลิดเพลินอยู่กับความสงบสุขภายในจิตในใจของเราเอง นี่เอง ต่อมาสติปัญญาแก่รอบลงมาอีก เห็นเลย ตัวจิตตัวใจที่ว่าสุขว่าสงบเนี่ย เอาเข้าจริงก็เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ตัวนี้ไม่รู้ว่าจะพูดภาษามนุษย์ยังไงนะ ฟังเอาไว้ก็แล้วกัน มันเห็นเป็นทุกข์ล้วนๆเมื่อไหร่นะ มันจะทิ้งแล้ว จะวาง แต่ถ้ายังเห็นทุกข์บ้างสุขบ้าง มันไม่วางหรอก มันทุกข์ล้วนๆ โอ้ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆ ตัณหาจะดับทันทีเลย เมื่อมันเป็นทุกข์ล้วนๆแล้วจะอยากให้มันสุขได้อย่างไร นะ ของเรามีตัณหาขึ้นมาเพราะอยากให้ขันธ์ ๕ มีความสุข รู้สึกมั้ย อยากให้ขันธ์ ๕ พ้นทุกข์ แต่วันหนึ่งเรียนจนกระทั่งรู้ชัดเลย ขันธ์ ๕ นี่ทุกข์ล้วนๆน่ะ ไม่มีทางอยากให้มันมีความสุข ไม่มีทางอยากให้มันพ้นทุกข์อีกต่อไปแล้ว มันไม่สมหวัง มันทุกข์ล้วนๆ เนี่ย ใจเข้าถึงตรงนี้ ใจยอมรับตรงนี้จริงๆแล้วจะสลัดคืนเลย จะหมดตัณหาแล้วก็สลัดคืนความยึดถือกายความยึดถือใจให้โลก คืนเจ้าของเดิมนั้นเอง จิตใจก็จะเข้าถึงความสงบ สันติ ที่แท้จริง คือ นิโรธ หรือ นิพพาน บางทีก็มีหลายชื่อนะ อุปสมะ ก็ได้ นะ มีหลายชื่อเยอะแยะเลย ชื่อ ความจริงก็คือ ความสงบ สันติ ซึ่งมันพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นความยึดถือในธาตุในขันธ์ ในกาย ในใจ นี้เอง พอพ้นปั๊บเราจะเห็นโลกนี้ มี แต่ไม่มีอะไร โลกนี้มีอยู่ แต่ไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า ว่างเปล่าไม่ใช่แปลว่า ไม่มีอะไรเลย มันว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน ว่างเปล่าจากกิเลส ว่างเปล่าจากขันธ์ ว่างเปล่าจากทุกข์ มันมีอยู่ของมันตามสภาพของมัน มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน แต่จิตใจที่ฝึกฝนอบรมจนกระทั่งไม่ยึดถือในจิตแล้วเนี่ย จะไม่ยึดถืออะไรในโลกอีก เห็นโลกนี้มีแต่ไม่มี ว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นเอง จิตใจมีแต่ความสุขล้วนๆ สุขแบบนึกไม่ถึงนะ สุข สุขที่สุดเลย มีความสุขมาก ไม่รู้จะใช้ภาษาอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็เลยใช้เอาง่ายๆ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” บรมสุขเลย ไม่รู้จะใช้คำอะไรแล้ว ท่านใช้คำว่า “ปรมัง สุขัง” บรมสุขเลย ความสุขของโลกๆที่พวกเรารู้สึกน่ะนะ รู้จักกันนะ ความสุขลุ่มๆดอนๆ สุกๆดิบๆ เป็นความสุขร้อนๆ สุกๆ เผ็ดๆ นะ เผ็ดร้อนรุนแรง สุขชั่วครั้งชั่วคราวได้มาแล้วก็เสียไป ตะกายหาอีก จับได้ปั๊บหลุดมือไปอีกแล้ว อย่างนี้ตลอดชีวิตเลย เดินทางในสังสารวัฏฏ์นะ ข้ามภพข้ามชาติไม่ได้ ข้ามมหาสมุทรสี่อันนี้ไม่ได้ ก็ข้ามภพข้ามชาติไม่ได้ เพราะฉะนั้นตั้งอกตั้งใจนะ อันแรก ต่อสู้กับมิจฉาทิฎฐิของตัวเองก่อน ทะเลอันที่หนึ่ง มิจฉาทิฎฐิ คือ ความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ วิธีจะดูให้เห็นว่าตัวเราไม่มีนะ ไม่ใช่ไปนั่งคิดเอาว่าตัวเราไม่มี คิดยังไงมันก็เชื่อว่า “ฉันมี” แต่ฉันแกล้งไม่มี นะ มันจะแกล้งทำ ให้เรารู้ลงในกาย รู้ลงในใจ อะไรก็ได้ เริ่มจากกายก็ได้ ถ้าเริ่มจากกายถูกต้องก็จะรู้ใจ หรือจะเริ่มจากใจก่อนก็ได้ ถ้าเริ่มรู้ใจถูกต้องก็จะรู้กายด้วย นะ จะรู้สองอัน ไม่รู้อันเดียว ถ้าคนไหนภาวนาแล้วรู้อันเดียว ทำผิดแน่นอนนะ เพราะจริงๆมันมีสองอัน จะมารู้อันเดียว เลือกรู้อันเดียว ทำผิดแล้ว เช่นบางคนจะดูแต่ลมหายใจอย่างเดียว ให้ลืมโลกไปเลย โลกนี้เหลือแต่ลมหายใจ เนี่ยสะสมมิจฉาทิฎฐินะ แทนที่จะละมิจฉาทิฎฐิ จะรู้สึก “กูเก่งๆ” “กูบังคับจิตให้อยู่กับลมได้” หรือ “กูบังคับจิตให้อยู่กับท้องพองยุบได้” จิตไม่หนีไปที่อื่นเลย “กูเก่งๆ” ความจริงต้องรู้ ตามที่เขาเป็น ตามความเป็นจริง ของเราก็คือมันมีทั้งกายมีทั้งใจนะ เดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็รู้ใจไป ถ้าจะรู้กาย เราก็เห็นร่างกายนี้ มันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอนไป ใจเป็นแค่คนรู้มัน ถ้าจะรู้จิตใจเราก็เห็นจิตใจเคลื่อนไหว ทำงานไป พอมีการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น ตามองเห็น จิตใจก็เคลื่อนไหวตาม หู ได้ยินเสียง เช่น เขาด่ามา ใจก็เคลื่อนไหว คือ โทสะเกิดขึ้น นะ มันเนื่องกัน ทั้งกายทั้งใจ ไม่ใช่รู้อันเดียวนะ ถ้าจงใจไปรู้อันเดียวเป็นสมถะ เป็นสมถกรรมฐาน ถ้ารู้ถูกต้อง มันรู้ทั้งกายรู้ทั้งใจ เห็นกายนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน ใจเป็นคนดูไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะเห็นเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้าเท่านั้นเอง เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มันไม่บรรยายอย่างที่หลวงพ่อพูดนะ มันจะรู้สึกแค่ว่ามันไม่ใช่เราหรอก ไม่ใช่ว่าต้องมาพร่ำรำพัน เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นธาตุ เป็นขันธ์ มันไม่พูดนะ เป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละ รู้สึกถึงความไม่ใช่ตัวเรา ดูลงมาในเวทนา ในความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เราจะเห็นเลย ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า จะเห็นอย่างนี้ นะ กุศล อกุศลทั้งหลาย นะ ที่เรียกว่าสังขาร กุศล อกุศลทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง ทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่เราอีก ดูไปอย่างนี้ ตัวจิตเองล่ะ จิตเดี๋ยวก็เกิดที่ตา ดับที่ตา เกิดที่หู ดับที่หู เกิดที่ใจก็ดับที่ใจ จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น นะ ไม่ใช่มีจิตดวงเดียววิ่งไปวิ่งมา ถ้าเห็นว่าจิตมีดวงเดียววิ่งไปวิ่งมาเป็นมิจฉาทิฏฐินะ หลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ ท่านสอนดี ท่านบอกว่า ถ้าใครเห็นว่า จิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ ตัวผู้รู้เองก็ไม่เที่ยง เป็นผู้รู้แล้วก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวก็หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนี่ยดูลงมาในกายในใจบ่อยๆ ดูจนเห็นความจริงเลย มันไม่ใช่ตัวเราสักอันเดียวเลยนะ ร่างกายมันก็เป็นแค่วัตถุ พวกเราลองทดสอบนะ เอ้า แก้ง่วงไปด้วย เอามือของตัวเองมา แล้วลองลูบดู ลองสัมผัสดูไปรู้สึกมั้ย มันเป็นท่อนๆแข็งๆรู้สึกมั้ย เนี่ย รู้สึกนะ รู้สึกไว้ แล้วลองตั้งใจฟังมันบอกมั้ยว่ามันเป็นตัวเรา มันเงียบๆ รู้สึกมั้ย มันไม่พูดหรอก จริงๆเราไปขี้ตู่ว่ามันเป็นตัวเรานะ จริงๆ เนี่ย ลองจับลงไปสิ เป็นก้อนแข็งๆอะไรก้อนหนึ่ง ถ้าเราจับไปนะเราจะรู้สึก มันไม่มีตัวเราในก้อนนี้แล้ว เวลาความสุขความทุกข์เกิดขึ้นเราก็รู้ไปตรงๆ เหมือนที่เรารู้สัมผัสมืออย่างนี้ กุศล อกุศล เกิดขึ้นก็รู้มันเข้าไปตรงๆนั้นแหละ แล้วมันจะบอกเรามั้ยว่าเป็นตัวเรา ไม่มีพูดสักคำหนึ่ง ความเป็นตัวเราจริงๆไม่มี ความเป็นตัวเราเกิดจากความคิดล้วนๆเลย คิดเอาเองว่าเป็นเรา ถ้าไม่ไปหลงอยู่ในโลกของความคิดนะ กายนี้ใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา เนี่ย พอเราเห็นซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ นะ ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะรวมเข้ามา มันจะเข้าสมาธิ รวมเอง ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จิตมี ปีติ สุข เอกัคคตา มีวิตกวิจารณ์คือการตรึกถึงอารมณ์ การตรองเคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์นั้น อารมณ์อะไร อารมณ์นิพพาน จิตจะรวมเข้ามานะ ขั้นแรกพอรวมเข้ามาปั๊บ มันจะเห็นสภาวธรรม อะไรก็ไม่รู้ นะ ไม่รู้ว่าคืออะไร นะ ถ้ายังรู้ว่าคืออะไรนี่ยังเจือด้วยสมมุติบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง จิตจะเห็นสภาวธรรมบางอย่าง เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ขึ้นมา บางคนเห็นสองครั้ง บางคนเห็นสามครั้ง เห็นสองทีเนี่ย จิตก็วางการรับรู้อารมณ์นั้นแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ทวนกระแสเข้ากลับมาหาธาตุรู้ จากนั้นสิ่งที่ห่อหุ้มปิดบังธาตุรู้ไว้ จะถูกแหวกถูกทำลายออกชั่วขณะ จะแหวกออก จิตที่เป็นอิสระล้วนๆเลยที่สัมผัสกับธรรมะคือนิพพานล้วนๆเลยจะปรากฎขึ้นมา เสร็จแล้วจิตจะถอยออกมานะ ตรงนี้ไม่มีคำพูดนะ แว้บเดียวเอง แต่มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา พร้อมอยู่ตรงนี้เลย พอถอยออกมากลับมาสู่โลกภายนอก จิตจะทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น มันจะรู้เลยว่า อ้อ..เมื่อตะกี้นี้เกิดอริยมรรคขึ้นแล้ว สังโยชน์เบื้องต้นถูกละไปแล้ว ความเห็นผิดถูกละไปแล้ว กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ดูยังไงก็ไม่เป็นเราอีกต่อไปแล้ว จะละความเห็นผิดได้ จะหมดความลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรายังลังเล รู้สึกมั้ย ฝึกๆไปช่วงหนึ่งก็รู้สึก เอ้อ.. จริง ไม่จริงว้า.. จริง ไม่จริงว้า.. อั้นนั้นเป็นธรรมชาตินะ ต้องมี ไม่ต้องแกล้งทำเป็นไม่มี หรือเราเคยงมงาย เห็นว่าต้องปฎิบัติอย่างนี้แล้วจะดี ปฏิบัติแล้วจะดี ต้องทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนี้ดี จะหมดความงมงายอย่างนี้เลย รู้แต่ว่ามีแต่การเจริญสติรู้กายรู้ใจทางสายเดียว ทางสายเอก มีอันนี้อันเดียว ไม่มีอันอื่นอีกแล้ว เนี่ย พระโสดาบันละสิ่งเหล่านี้ได้ ละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ละความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยได้ ละการถือศีลบำเพ็ญพรตแบบงมงาย ลูบๆคลำๆ ว่าทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนี้ดี รู้แล้วว่าไม่มีทางอื่นเลยนอกจากการมีสติรู้กายรู้ใจ หรือสติปัฏฐานนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่บรรลุพระโสดาบันไม่ใช่จิตดับนะ ทุกวันนี้มีคำสอนเรื่องจิตดับมากมาย คิดว่าภาวนาไปเรื่อย กำหนดไปเรื่อยนะ อย่างจะหยิบอะไรสักอันหนึ่ง กำหนดไปเรื่อยให้จิตมันแนบอยู่ที่มือเนี่ย เพ่งมากๆนะ จิตจะดับลงไป จิตดับแล้วสำคัญมั่นหมายว่าบรรลุธรรมแล้ว ดับ ๔ หน ก็เป็นพระอรหันต์นะ ออกมาจากพระอรหันต์ก็มาทะเลาะกับเมียเหมือนเดิมแหละ นะ ละกิเลสไม่ได้จริง ในขณะที่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน มีจิตนะ ไม่ใช่ไม่มีจิต ขณะที่บรรลุอริยมรรค นะ ก็มี มรรคจิต ขณะที่บรรลุอริยผล มีผลจิต มรรคจิตมี ๔ ดวง ผลจิตอีก ๔ ดวง นี่เรียก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ คนโบราณชอบพูด ถ้าพูดอย่างละเอียด ก็มี ๒๐ อย่างละ ๒๐ เพราะว่ามันเจือด้วยฌานเข้าไปในแต่ละชนิด ฌานมันไม่เท่ากัน มีฌาน ๕ อย่าง เพราะฉะนั้นจิตที่บรรลุมรรคผลเนี่ย รวมแล้วมีจิตตั้ง ๔๐ ดวงแหน่ะ ทีนี้พวกเรารุ่นหลังๆนะ เชื่อคำสอนของอาจารย์มากไป เลยคิดว่าเวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน จิตดับวูบลงไปหมดสติ พอรู้สึกตัวขึ้นใหม่ บอกบรรลุไปแล้ว ตรงที่จิตดับลงไปนั้น คือ อสัญญสัตตาภูมิ คือ พรหมลูกฟักนะ มีองค์หนึ่งท่านเล่น เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านอนุสรณ์ เนี่ย ท่านลองเล่นๆของท่านนะ ดับปั๊บเลย และท่านรู้ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ เพราะมันขาดสติ ออกมาแล้วไม่เห็นจะละกิเลสอะไรเลย ดับไปเฉยๆ ฝึกไม่กี่วันก็เป็นแล้ว นี่คือการเพ่งกาย เพ่งกายแล้วลืมจิต จนจิตดับลงไป เหลือแต่กายอันเดียวล้วนๆ เพราะฉะนั้นเวลาบรรลุมรรคผลนิพพานมีจิต ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไม่มีจิตแล้วใครจะรู้นิพพาน นิพพานเป็นอารมณ์นะ มีอารมณ์ต้องมีจิต เป็นกฎนะ กฏของธรรมะ ชื่อภาษาแขกเพราะๆเรียกว่า “ธรรมนิยาม” กฎของธรรมะ ทีนี้พอได้โสดาบันแล้ว การภาวนาก็ยังทำอย่างเก่านั้นแหละ นะ การทำภาวนาอย่างเก่า รู้กายไปรู้ใจไป มีสติ รู้กายรู้ใจลงเป็นปัจจุบัน ทีละขณะ ทีละขณะ คำว่าปัจจุบันก็คือ ๑ ขณะจิตต่อหน้าเรานี่แหละ รู้ลงทีละขณะ ทีละขณะ นิดเดียว เล็กนิดเดียว ๑ ขณะ สำคัญนะ ในทางศาสนาพุทธ อะไรหนึ่ง หนึ่ง เนี่ย สำคัญทั้งนั้นเลย นะ เราภาวนาไปจนถึงจุดสุดท้ายนะ จิตเป็นหนึ่งนะ จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์ก็เป็นหนึ่ง ธรรมก็เป็นหนึ่ง ครูบาอาจารย์บางองค์เรียกว่า เอกจิต เอกธรรม หรือจิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง บางองค์เรียก ฐีติจิต ฐีติธรรม แล้วแต่จะเรียก เป็นหนึ่งทั้งหมดเลย หนึ่งเดียวรวด เพราะฉะนั้นภาวนาอยู่กับหนึ่งขณะจิตต่อหน้านี้ ไม่มีตัวมีตน คอยรู้ไปๆนะ ถึงจุดหนึ่ง จิตของเราก็จะเป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น หมายถึง ไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งให้เป็นสองได้อีกแล้ว จิตที่มันเป็นสองได้ เป็นสามได้ เพราะว่ามันถูกปรุงแต่ง เหมือนอย่างน้ำที่บริสุทธิ์นี้มีอยู่หนึ่งเดียว ใช่มั้ย น้ำเขียว น้ำแดง น้ำซ่าๆ น้ำเน่า น้ำเหม็น น้ำหอมอะไรนี่ เพราะมันมีของอื่นไปปรุงแต่งเอา พอมันกลั่นตัวของมันจนบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ก็เป็นสภาวะอันเดียวล้วนๆเลย ก็เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ ของจิตของใจ เวลามีจิตใจเข้าถึงความบริสุทธิ์แล้ว มาดูโลก ดูสรรพสัตว์ ดูตัวเอง ดูอะไรต่ออะไรทั้งหมดเนี่ย ก็จะเห็นเป็นหนึ่งเหมือนกัน คือว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเสมอกันหมดเลย ภาวนานะ ถึงจุดสุดท้าย เข้าถึงจิตก็เป็นหนึ่ง ธรรมก็เป็นหนึ่ง อยู่กับความเป็นหนึ่งนั้นแหละ อยู่กับความไม่มี อยู่กับความไม่เป็นอะไร นี่ ฟังของหลวงพ่อคำเขียนท่านพูด ท่านอยู่กับความไม่มีไม่เป็นแล้วสะใจ ถ้าคนมาเล่าว่าเนี่ย จิตเป็นอย่างนี้ แล้วไปอยู่ตรงนี้นะ ฟังแล้วไม่สะใจ ฟังแล้วเอียนๆ นะ ฝึกเอานะ ศาสนายังไม่ใช่สูญหายไป แต่เรียนให้ดี เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี อย่าเชื่ออาจารย์มากเกินไป สติปัฏฐานสำคัญนะ ต้องเรียน อริยสัจจ์ ๔ ต้องเรียน เรียนปริยัติไปก่อน ถ้าเราไม่รู้จักสติปัฏฐาน ไม่รู้จักอริยสัจจ์ ไม่รู้จักไตรลักษณ์ อะไรอย่างนี้นะ ไม่ไหว ภาวนาไม่ไหว พวกนี้เป็นความรู้พื้นฐาน เพราะฉะนั้นจะเรียนพวกนี้นะ หลวงพ่อเขียนไว้ให้อ่านแล้วนะ เยอะแยะเลย นะ ไปอ่านเอาเอง ช่วยตัวเอง หลวงพ่อช่วยไม่ไหวแล้ว นะ เรือหลวงพ่อลำเล็กนะ หลวงพ่อเป็นเรือบด ลำเล็กๆเอาตัวรอดเท่านั้นแหละ พายตุ๊บป่อง ตุ๊บป่อง ข้ามทะเลของหลวงพ่อเอาเอง พวกเราก็ต้องหาเรือของเราเองนะ สิ่งที่จะเป็นเรือให้กับพวกเราคือธรรมนั่นแหละ ทำอะไรบ้างล่ะ สติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ สติ สัมมาสมาธิ ปัญญา หรือ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฎฐิ สิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนาขึ้นมา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น