วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
หลักธรรมที่แท้จริงก็คือจิตของเรานั่นเองทำสมาธิโดยการบริกรรมภาวนา หมายถึงการท่องคำบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัน เป็นต้น ผู้ภาวนาท่องบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตสงบประกอบด้วยองค์ฌาณ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตสงบจนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างหายไป เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งสว่างอยู่ ความนึกคิดไม่มี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ พอรู้สึกว่ามีกาย ความคิดเกิดขึ้น ให้กำหนดสติตามรู้ทันที อย่ารีบออกจากที่นั่งสมาธิ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้ปัญญาเร็วขึ้น …ในช่วงนี้ถ้าเราไม่รีบออกจากสมาธิ ออกจากที่นั่ง เราก็ตรวจดูอารมณ์จิตของเราเรื่อยไป โดยไม่ ต้องไปนึกอะไร เพียงแต่ปล่อยให้จิตมันคิดของมันเอง อย่าไปตั้งใจคิด ที่นี้พอออกจากสมาธิมาแล้ว พอมันคิดอะไรขึ้นมา ก็ทำใจดูมันให้ชัดเจน ถ้าจิตมันคิดไปเรื่อย ๆ ก็ดูมันไปเรื่อย ๆ จะคิดไปถึงไหนช่างมัน ปล่อยให้มันคิดไปเลย เวลาคิดไป เราก็ดูไป ๆๆๆ มันจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มในความคิด แล้วจะเกิดกายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ กายเบา กายสงบ ได้กายวิเวก จิตเบา จิตสงบ ได้จิตวิเวก ทีนี้จิตสงบแล้ว จิตเป็นปกติได้ ก็ได้อุปธิวิเวกในขณะนั้น บริกรรมพุทโธกับการตามรู้จิตคือหลักเดียวกัน …ภาวนาพุทโธเอาไว้ พอจิตมันอยู่กับพุทโธก็ปล่อยให้มันอยู่ไป พอทิ้งพุทโธแล้วไปคิดอย่างอื่น ปล่อยให้มันคิดไปแต่ให้มีสติตามรู้… พุทโธที่เรามาท่องเอาไว้ ๑. เพื่อระลึกถึงพระบรมครู ๒. เพื่อกระตุ้นเตือนจิตให้เกิดความคิดเอง ทีนี้เมื่อจิตทิ้งพุทโธปั๊บ มันไปคิดอย่างอื่นขึ้นมาได้ แสดงว่าเขาสามารถหาเหยื่อมาป้อนให้ตัวเองได้แล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลที่จะหาอารมณ์มาป้อนให้เขา ปล่อยให้เขาคิดไปตามธรรมชาติของเขา หน้าที่ของเรามีสติกำหนดตามรู้อย่างเดียวเท่านั้น นี่หลักการปฏิบัติเพื่อจะได้สมาธิสัมพันธ์กับชีวิต ประจำวันต้องปฏิบัติอย่างนี้ อย่าข่มจิตถ้าจิตอยากคิด ถ้าเราภาวนาพุทโธๆ แม้ว่าจิตสงบเป็นสมาธิถึงขั้นละเอียด ถึงขั้นตัวหาย เมื่อสมาธินี้มันจะได้ผล ไปตามแนวทางแห่งการปฏิบัติเพื่อมรรค ผล นิพพาน ภายหลังจิตที่เคยสงบนี้มันจะไม่ยอมเข้าไป สู่ความสงบ มันจะมาป้วนเปี้ยนแต่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ซึ่งอันนี้ก็เป็น ประสบการณ์ที่หลวงพ่อเองประสบมาแล้ว พยายามจะให้มันเข้าไปสู่ความสงบอย่างเคย มันไม่ยอมสงบ ยิ่งบังคับเท่าไรยิ่งดิ้นรน นอกจากมันจะดิ้นแล้ว อิทธิฤทธิ์ของมันทำให้เราปวดหัวมวนเกล้า ร้อนผ่าวไปทั้งตัว เพราะไปฝืนความเป็นจริงของมัน ทีนี้ภายหลังมาคิดว่า แกจะไปถึงไหน ปรุงไปถึงไหน เชิญเลย ฉันจะตามดูแก ปล่อยให้มันคิดไป ปรุงไป ก็ตามเรื่อยไป ทีนี้พอไปๆ มาๆ ตัวคิดมันก็คิดอยู่ไม่หยุด ตัวสติก็ตามไล่ตามรู้กันไม่หยุด พอคิดไปแล้ว มันรู้สึกเพลินๆ ในความคิดของตัวเอง มันคล้ายๆ กับ ว่ามันห่างไกล ไกลไปๆๆ เกิดความวิเวกวังเวง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ และพร้อมๆ กันนั้นน่ะ ทั้งๆ ที่ความคิดมันยังคิดไวเร็วปรื๋อ จนแทบจะตามไม่ทัน ปีติ และความสุขมันบังเกิดขึ้น แล้วทีนี้มัน ก็มีความเป็นหนึ่ง คือ จิตกำหนดรู้ อยู่ที่จิต ความคิดอันใดเกิดขึ้นกับจิตสักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง ไปๆ มันไม่ได้ยึดเอามา สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน …แล้วในที่สุดเมื่อมันตัดกระแสแห่งความคิดแล้ว มันวูบวาบๆ เข้าไปสู่ความสงบนิ่งจนตัวหาย เหมือนอย่างเคยจึงได้ข้อมูลขึ้นมาว่า …อ๋อ ธรรมชาติของมัน เป็นอย่างนี้ ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ความคิดอันใดที่สติรู้ทันทุกขณะจิต ความคิดอันนั้นคือปัญญาในสมาธิ เป็นลักษณะของจิตเดินวิปัสสนา พร้อมๆ กันนั้นถ้าจะนับตามลำดับขององค์ฌาน ความคิด เป็นตัววิตก สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด เป็นตัววิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร…ปีติ และสุขย่อมบังเกิดขึ้นไม่มีปัญหา ทีนี้ปีติเกิดขึ้นแล้ว จิตมันก็อยู่ในสภาพปกติ กำหนดรู้ความคิดที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ก็ได้ความเป็นหนึ่ง ถ้าจิตดำรงอยู่ในสภาวะเป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าจิตดำรงอยู่ในปฐมฌาน คือ ฌานที่ ๑ ประกอบ ด้วยองค์ ๕ : วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ปล่อยจิตให้คิด เกิดความฟุ้งซ่านหรือเกิดปัญญา …ความคิดที่จิตมันคิดขึ้นมาเอง เป็นวิตก สติรู้พร้อม เป็นวิจาร เมื่อจิตมีวิตก วิจาร ปีติ และ ความสุขย่อมเกิดขึ้นไม่มีปัญหา ผลที่จะเกิดจากการตามรู้ความคิด ความคิดเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่ง ระลึกของสติ เมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้น เราจะรู้สึกว่า… ความคิด เป็นอาหารของจิต ความคิด เป็นการบริหารจิต ความคิด เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด ความคิด เป็นนิมิตหมายให้เรารู้ว่าอะไรเป็นเรื่องทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วความคิดนี่แหละมันจะมายั่วยุให้เราเกิดอารมณ์ดี อารมณ์เสีย เมื่อเรามองเห็นอารมณ์ดี อารมณ์เสีย มองเห็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ที่ก่อเป็นตัวกิเลส ทีนี้เมื่อจิตมีอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ มันก็มีสุข บ้าง ทุกข์บ้างคละกันไป ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์อริยสัจ …ถ้าจิตมันเกิดทุกข์ขึ้นได้ สติรู้พร้อม มองเห็นทุกข์อริยสัจ ถ้าจิตมีปัญญารู้สึก มันจะบอกว่า อ้อ! นี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วมันจะดูทุกข์กันต่อไป สุข ทุกข์ ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นสลับกันไป อันนี้คือกฎอริยสัจแล้วในที่สุดจิตมีสติมีปัญญาดีขึ้น มันจะกำหนดหมายรู้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ แล้วจะมองเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไปอยู่อย่างนั้น ยังกิญจิ สมุทย ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา… คือจุดนี้ เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ… พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้ ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ที่เกิดดับ กับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงในความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิต ของพระองค์เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่านี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา ความยึดมั่นถือมั่น ในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่าง เป็นภวตัณหา ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้ง เห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น