วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผู้สละโลกเหมือนมารดาผู้ให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หมายถึง เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมข้อแรกของมรรคมีองค์ ๘ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ๒ (ทางเกิดแห่งแนวคิดที่ถูกต้อง, ต้นทางของความดีงามทั้งปวง) ๑. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร) ๒. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย) สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมนั้น มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑. ทานที่ให้แล้วมีผล ๒. การสงเคราะห์กันมีผล ๓. การยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผล ๔. ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง ๕.โลกนี้มี (ที่มา) ๖. โลกหน้ามี (ที่ไป) ๗. แม่มี ๘. พ่อมี ๙. สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี ๑๐. พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วมี สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ [๑๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิๆ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไป ตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ พวกภิกษุกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของท่าน พระสารีบุตร ดังพวกกระผมขอโอกาส เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะท่านพระสารีบุตรเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อท่านพระสารีบุตรแล้ว จักทรงจำไว้ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ถ้าอย่างนั้น จงฟังเถิด ท่านผู้มีอายุ จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. [๑๑๑] ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่ง อกุศลและรากเง่าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเง่าของกุศล แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้วประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่ พระสัทธรรมนี้ ก็อกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด อันนี้เรียกว่า อกุศลแต่ละอย่างๆ รากเง่าของอกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้เรียกว่ารากเง่า ของอกุศลแต่ละอย่างๆ กุศลเป็นไฉน? ได้แก่ ความเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่ปองร้ายเขา เห็นชอบ อันนี้เรียกว่า กุศลแต่ละอย่างๆ รากเง่าของกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันนี้เรียกว่า รากเง่าของกุศลแต่ละอย่างๆ ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเง่าของอกุศลอย่างนี้ๆ รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเง่าของกุศลอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัยว่า เรามีอยู่โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันนี้เทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอัน แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น