วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรรมฐาน 40 11 กายคตานุสสติกรรมฐาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ "ความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่" หมายความว่า การพยายามบังคับจิตให้มีลักษณะสดชื่นแจ่มใสอาจหาญร่าเริงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีลักษณะหดหู่ ท้อแท้ งัวเงีย ของบุคคลผู้ต้องการจะหลับ ในทางปฏิบัติมีหลักใหญ่ๆ อยู่ว่า ถ้าไม่ถึงเวลานอน ก็จะดำรงจิตให้อยู่ในลักษณะที่กล่าวนี้ทุกอิริยาบถ เว้นอิริยาบถนอน ครั้นถึงเวลานอน ก็มีสติกำหนดระยะเวลาที่จะนอน ตามที่กำหนดไว้ แล้วนอนด้วยอาการที่เรียกว่า "สีหไสยา" แล้วตื่นตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ คำว่า "สีหไสยา" แปลว่า นอนอย่างราชสีห์ ต้องนอนตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมกันพอสบาย และนอนโดยอิริยาบถเดียวนี้จนตลอดเวลา ไม่มีการดิ้น เวลาที่กำหนดไว้สำหรับบรรพชิตผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาคือ มัชฌิมยามเพียงยามเดียว หลับลงไปด้วยการกำหนดธรรมะข้อใด ต้องตื่นขึ้นมาด้วยการกำหนดธรรมะข้อนั้น แล้วพิจารณาต่อไปตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ไม่มีระยะขาดตอน นี้เรียกว่า "ชาคริยานุโยค" มีความหมายคล้ายๆ กับว่าผู้นั้นไม่เคยเผลอสติ แม้กระทั่งเวลาหลับ ก็ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำ โดยไม่ต้องกล่าวถึงเวลาตื่น จึงไม่มีการฝันร้าย ฝันลามก และถึงกับไม่มีการฝันเลย ข้อปฏิบัติเหล่านี้ถือว่าไม่มีทางผิดในทุกกรณี แม้แต่ฆราวาสหรือแม้แต่เด็กๆ เพียงแต่จะต้องปรับปรุงข้อปลีกย่อย เช่น เวลา เป็นต้น ให้เหมาะสมเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มุ่งหมายถึงความเป็นบุคคลที่มีร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีจิตใจสดชื่นแจ่มใสร่าเริง มีสติสัมปชัญญะเต็มตัวอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ เมื่อหลับก็หลับอย่างสนิท เมื่อตื่นก็แจ่มใสเต็มที่ สิ่งที่ตนกระทำอยู่ก็เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทั้งทางโลกและทางธรรมดังกล่าวแล้ว การปฏิบัติเช่นนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในสิกขา ๓ หรือในมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง แม้กระนั้นแล้วข้อปฏิบัติที่เรียกว่าอปัณณกปฏิปทา ๓ ประการนี้ ก็ยังคงมีอยู่ประจำตัวด้วยอำนาจความเคยชินเป็นนิสัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น