วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
วิธีละกิเลส วิธีเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในที่สุดเวลาก็มาถึง ท้องฟ้าเริ่มสาง เสียงไก่ขันรับอรุณแว่วมาตามสายลม เศรษฐีเดินออกจากตัวเรือนมุ่งสู่ประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด อนาถบิณฑิกะต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนาน เขาจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากประตูเมืองแล้ว ทางที่จะไปสู่ปาสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว การสัญจรยังไม่มี การเดินออกจากเมืองเข้าไปในป่านั้นเป็นการยากมากสำหรับคนขลาด ท่านเศรษฐีเกือบจะหมดความพยายาม มีหลายครั้งที่อยากจะถอยกลับเข้าสู่เมือง แต่พอเขาหยุดยืนอยู่นั่นเอง เสียงก็ปรากฏขึ้นเหมือนแว่วมาจากอากาศว่า “ ท่านเศรษฐี ม้าตั้งร้อย ช้างตั้งร้อย โค แพะ แกะ เป็ด ไก่ อย่างละร้อย ถ้าท่านได้เพราะถอยกลับเพียงก้าวเดียว จะไม่ประเสริฐเหมือนก้าวไปข้างหน้าเพียงก้าวเดียว จงก้าวต่อไปเถิด ท่านเศรษฐี ! การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและชาวโลกมาก ” ท่านเศรษฐีมุ่งหน้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระบรมศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้ว ทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมดำเนินกลับไปกลับมาอยู่ ณ ที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่นี่ ” ดูก่อนท่านผู้เจริญ ! พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า สุทัตตะ โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชแก่ท่านเศรษฐีอย่างเหลือล้น เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยรู้จักเขา แต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้ ท่านเศรษฐีหรือจะไม่ปลื้มใจ เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระศากยมุนี ! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวนานเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกิน กว่าที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า พุทโธ พุทโธ “ “ ดูก่อนสุทัตตะ ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้น เบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและความตาย ความคร่ำครวญทุกข์โทมนัส อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปด้วยทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาได้นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว ” ดูก่อนสุทัตตะ ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันยังสามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้บ่อยๆ “ สุทัตตะเอย ! น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านี้เท่านั้น กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดลเล่า ถ้านำมากองรวมกันมิให้กระจัดกระจาย คงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่สักนิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูก นั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น ” ดูก่อนสุทัตตะ ! ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ ฉะนั้น “ พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่ท่านสุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย แล้วทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า “ ดูก่อนสุทัตตะ ! การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ ! เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก “ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือสุทัตตคฤหบดี ได้ทูลอาราธนาพระตถาคตเจ้าเพื่อเสด็จสู่กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งโกศลรัฐ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว เศรษฐีจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครตนล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางเศรษฐีให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่งๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พักเพื่อพระสงฆ์สาวกตามเส้นทางที่พระศาสดาจะเสด็จ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น